แบงก์ชาติ ชี้แนวโน้มบริการทางการเงินผ่านมือถือเติบโตดี แนะผู้ให้บริการทางการเงินผ่านมือถือ สิ่งแรกทำควรพัฒนาให้โอนเงินข้ามค่ายได้ ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ควรลดค่าธรรมเนียมโอนหรือชำระเงินข้ามธนาคารถูกลงกว่าในปัจจุบัน ด้าน ธปท.จะปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแลผู้ให้บริการ โดยเฉพาะการให้บริการผ่านตัวแทนให้มีความน่าเชื่อถือ
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ทีมวิเคราะห์ระบบการชำระเงินของ ธปท.ได้เผยแพร่รายงาน Payment Systems Insight ล่าสุดไตรมาสแรกของปี 2557 พบว่า ภาพรวมธุรกรรมการชำระเงินเติบโตทั้งปริมาณและมูลค่า เช่นเดียวกับแนวโน้มที่ผ่านมา และเมื่อเทียบไตรมาสก่อน ช่องทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่มีสัดส่วนและการเติบโตเพิ่มขึ้นเด่นชัด ขณะที่ธุรกรรมเงินอิเล็กทรอนิกส์และบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าหดตัวเล็กน้อย ซึ่งเป็นสื่อการชำระเงินของบุคคลทั่วไป เพราะผู้ให้บริการส่งเสริมทำธุรกรรมมากในช่วงสิ้นปี
ทั้งนี้ ธุรกรรมการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินและช่องทางต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสนี้มีปริมาณ 542 ล้านรายการ และมีมูลค่า 66 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกับปีก่อน 14.22% และ 9.04% ตามลำดับ แต่เทียบไตรมาสก่อนการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และการโอนเงินภายในธนาคารที่มีปริมาณหดตัวลงเล็กน้อย จากที่เคยมีทิศทางเติบโตมาอย่างต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ มูลค่าธุรกรรมเงินอิเล็กทรอนิกส์และบัตรอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลง 7.1% และ 6.0% ตามลำดับ ส่วนการใช้เช็กมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทั้งปริมาณและมูลค่าเมื่อเทียบระยะเดียวกันกับปีก่อน และเทียบไตรมาสก่อนปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสวนทางมูลค่าหดตัวกว่า 14%
สำหรับการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสัดส่วน 6% ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 19.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่ช่องทางเคาน์เตอร์ และเครื่องทำรายการอัตโนมัติเติบโตอยู่ที่ 2.8% และ 1.4% ตามลำดับ ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณธุรกรรมผ่านเครื่องรับบัตรเริ่มมีทิศทางที่ลดลงในไตรมาสนี้ เช่นเดียวกับช่องทางโทรศัพท์พื้นฐานและ Office banking ก็มีการหดตัวลดลงต่อเนื่อง
นอกจากนี้ในรายงานดังกล่าว วิเคราะห์เจาะลึกถึงบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือของไทยมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา และพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความมั่นใจในการใช้บริการมากขึ้น โดยพบว่าธุรกรรมชำระเงิน (M-payment) ที่มีมูลค่าไม่สูง นิยมผ่านบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) แต่ธุรกรรมผ่านธนาคาร (M-banking) ที่มีมูลค่าธุรกรรมสูงผ่านสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ธุรกรรม M-banking ยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับบริการผ่าน Internet banking โดยมูลค่าธุรกรรม M-banking เกือบทั้งหมดเป็นการโอนเงินและโอนไปยังธนาคารเดียวกันมากกว่า เพราะค่าธรรมเนียมถูกกว่า
“ผู้ให้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สิ่งแรกควรพัฒนา คือ โอนเงินข้ามค่ายกันได้ ขณะที่ธุรกรรม M-banking ของธนาคารพาณิชย์จะต้องโอนเงินหรือชำระเงินข้ามธนาคารกันได้สะดวกขึ้น และค่าธรรมเนียมการโอนหรือชำระเงินข้ามธนาคารถูกลงกว่าในปัจจุบัน โดยในหลายประเทศได้สร้างแพลตฟอร์มกลางขึ้นมา เพื่อให้บุคคลสามารถโอนเงินหรือชำระเงินให้กันได้ ซึ่งแต่ละประเทศมีรูปแบบและขั้นตอนแตกต่างกัน เช่น ผู้โอนเงินกรอกเพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับเงิน โดยหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวต้องลงทะเบียนผูกกับเลขที่บัญชีธนาคาร ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นทางเลือกที่ประเทศไทยจะสามารถทำได้”
สำหรับแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของไทยในระยะต่อไป ไม่ควรเน้นช่องทางโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการชำระเงิน โดยเฉพาะการให้บริการผ่านตัวแทน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจ การเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเริ่มให้บริการผ่านช่องทางนี้มากขึ้น ขณะที่ ธปท. จะเน้นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ให้บริการ โดยเฉพาะการให้บริการผ่านตัวแทนให้มีความน่าเชื่อถือ