xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาแรงงานขาดแคลนกับการปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความพยายามจะจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เรื่องราวกลับบานปลาย เมื่อเกิดข่าวลือสะพัดว่า ทหารมีการจับกุม และฆ่าชาวกัมพูชาจนเป็นเหตุให้บรรดาแรงงานชาวกัมพูชาตกใจกลัว และส่งข่าวต่อๆ กัน โดยมีการอพยพกลับประเทศกันจำนวนมากมาย และรวดเร็ว ซึ่งช่วงระยะเวลาแค่สัปดาห์เศษๆ เท่านั้น ก็พบว่า จำนวนแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางกลับบ้านเกิดนับแสนคน และเมื่อนับรวมกับแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงาน และอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทางการไทยได้ผลักดันออกไป ประเมินว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ น่าจะหายไปจากระบบการจ้างงานของภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 2-3 แสนคน

นับเป็นเรื่องที่ดีที่ปัญหาด้านหนึ่งถูกแก้ไข และจัดระเบียบ แต่ก็กลายเป็นประเด็นปัญหาใหม่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศตามมา เพราะเมื่อแรงงานในระบบการจ้างานหายไปจำนวนมากขนาดนี้ ภาคการผลิต และบริการก็ต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก หลายกิจการเรียกได้ว่าหยุดชะงักทันที หลายกิจการไม่สามารถผลิต และส่งมอบสินค้าได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าผู้ประกอบการที่รับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ก่อสร้างห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด คอนโดมิเนียม โรงแรม โครงการบ้านจัดสรร โรงพยาบาล ฯลฯ เหล่านี้มีการว่าจ้าง และใช้แรงงานต่างด้าวมานานหลายปีแล้ว อันมีสาเหตุมาจากแรงงานคนไทยในยุคปัจจุบันไม่จำเป็นก็ไม่เลือกที่จะทำงานก่อสร้างกัน ทั้งนี้ ก็เพราะว่างานก่อสร้างมันเป็นงานรับจ้างที่ทั้งหนักทั้งร้อน ยกเว้นว่านายจ้างจ่ายค่าจ้างสูงๆ ก็พอจะหาคนไทยมาทำงานได้บ้าง

แล้วทีนี้จะทำยังไงกัน หากว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางกลับไปแล้วไม่กล้ากลับมาทำงานอีก หรืออาจจะอีกนานหลายเดือนกว่าจะเลิกกลัว เลิกหวาดระแวง และยอมกลับมาทำงานใหม่ หากจะตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องบอกว่า ผู้ประกอบการก็หันมาใช้แรงงานคนไทยสิ

แน่นอนล่ะว่า เมื่อจำเป็นก็ต้องทำเช่นนั้น แต่เมื่อจ่ายค่าแรงแพงก็จะเป็นผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ฉะนั้นก็ต้องปรับราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่การปรับราคาสินค้าก็จะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภค และการแข่งขันในสถานการณ์ปัจจุบันก็คงไม่เอื้อให้ทำได้ง่ายนัก

สำหรับในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้านนั้น ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้น บอกได้เลยว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานก็หนักมากพออยู่แล้ว (ยังแก้ไม่ตกเหมือนกัน) ยิ่งต้องมาเผชิญกับปัญหานี้อีกคงไม่ต้องอธิบายอะไรมากนัก ที่ผ่านมา “สมาคมไทยรับสร้างบ้าน” เองก็พยายามทั้งกระตุ้น ทั้งผลักดัน เพื่อจะให้ผู้ประกอบการ ผู้รับเหมาช่วง และบรรดาช่างก่อสร้างทั้งหลายปรับเปลี่ยนวิธีการก่อสร้าง โดยหันมาใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมากๆ แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องออกแรงผลักดันมากเป็นพิเศษ เหตุเพราะว่า

1.ผู้ประกอบการต้องมีการลงทุนเพิ่มสำหรับการซื้อหาเครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์

2.ผู้ปฎิบัติระดับหัวหน้า และผู้ควบคุมงาน หรือโฟร์แมน ดูจะยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก ต้นเหตุก็มาจากสถานศึกษาที่ผลิตบุคลากรเหล่านี้ออกมา ก้าวไม่ทันเทคโนโลยีก่อสร้าง

3.ช่างผู้ปฎิบัติส่วนใหญ่ปฎิเสธที่จะเรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ๆ

วันนี้สถานการณ์เริ่มบีบบังคับมากขึ้นๆ ฉะนั้นก็คงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะหากผู้ประกอบการรายใดยังคงแข็งขืนก็คงไปไม่รอด สำหรับผู้เขียนเองก็เริ่มมองเห็นภาพรางๆ ว่าธุรกิจก่อสร้างบ้านในอนาคตอันใกล้นี้ กำลังจะเปลี่ยนไปผลิตอยู่ในโรงงาน แทนการมาผูกเหล็ก ตีไม้แบบ และเทคอนกรีตที่หน้างานแบบเดิมๆ นั่นอาจหมายถึงว่าธุรกิจรับสร้างบ้าน จะเปลี่ยนไปอยู่ในมือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมการผลิตแทน

คิดแล้วก็ให้หนักใจแทนบริษัทรับสร้างบ้านที่แข่งขันอยู่ในปัจจุบันเสียจริงๆ เพราะเกือบทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการ SME ฉะนั้น หากวันนี้ยังไม่เร่งปรับตัว ผู้เขียนเชื่อว่า สุดท้ายก็คงต้องออกจากตลาดไป..ไม่ช้าก็เร็ว

หวังว่าทุกรายจะรีบปรับตัวกันแต่เนิ่นๆ นะครับ.

โดย สมาคมไทยรับสร้างบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น