ส.ไทยรับสร้างบ้าน เผยไตรมาสแรกตลาด กทม.หดตัว 10% สวนทาง ตจว.ซึ่งยังขยายตัวเพิ่มกว่า 22% ระบุการเมืองยืดเยื้อ-เศรษฐกิจหดตัวกระทบการตัดสินใจซื้อลูกค้าชะลอตัว ด้านการแข่งขันยังทรงตัว เหตุผู้ประกอบการเซฟต้นทุนหลังได้รับผลกระทบต้นทุนวัสดุฯ ขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยกว่า 15-20% เชื่อไตรมาส 2 ยังทรุดต่อ
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่าความต้องการสร้างบ้านใน กทม.และปริมณฑลหดตัวลดลง 10% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตสำคัญเพราะได้รับผลกระทบทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับกับแนวโน้ม และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมานิยมเลือกซื้อที่อยู่อาศัยประเภทอื่น เช่น คอนโดมิเนียมแทนการสร้างบ้านเองมากขึ้น
ขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดยังสามารถเติบโตได้ดี ทั้งนี้ พบว่าความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เติบโต 22% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ดี กำลังซื้อส่วนหนึ่งของผู้บริโภคในภาคใต้มาการเติบโตแบบชะลอตัว โดยขยายตัวเพียง 2% ซึ่งเกิดจากผลกระทบราคายางพารา และปาล์มที่ลดลง
สำหรับทิศทางการแข่งขันของธุรกิจรับสร้างบ้าน ในไตรมาสแรกถือว่าไม่รุนแรงนัก เนื่องจากปัจจัยลบที่รุมเร้าผู้ประกอบการเอง เช่น ปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง และความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างที่ใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัตถุดิบหลัก โดยในปีที่ผ่านมา ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวขึ้นหลายรอบ เฉลี่ยประมาณ 15-20% ขึ้นไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องลดการจัดโปรโมชัน และหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา เพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนที่ผันผวนตลอดเวลาได้ และผู้ประกอบการเองก็ไม่สามารถปรับราคาขายได้
ส่วนแนวโน้มตลาดในไตรมาส 2 นี้ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงปรับตัวสูงส่งผลให้ขีดความสามารถของบริษัทรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ลดลง เพราะแรงงานก่อสร้างขาดแคลนอย่างหนัก จนส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่อาจสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามสัญญา และไม่สามารถขยายการรับงานสร้างบ้านได้เพิ่มขึ้น
“จะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการชั้นนำหลายรายเริ่มเบนเข็มหันไปขยายตลาด และรับงานสร้างบ้านในต่างจังหวัดมากขึ้น ด้วยเพราะยังสามารถหาแรงงานได้ง่ายกว่า รวมถึงกำลังซื้อ หรือความต้องการสร้างบ้านยังมีมากพอ และการแข่งขันไม่รุนแรงมากนัก สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีแรก และตลอดปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 2 นี้ คาดว่าผู้ประกอบการยังคงเลือกใช้การแข่งขันราคาเป็นกลยุทธ์หลัก เช่น โปรโมชันส่วนลดเงินสด 15-20% โดยเฉพาะรายที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ส่วนบริษัทที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคแล้วจะเน้นแข่งขันที่คุณภาพ บริการก่อน และหลังการขาย และความสะดวกที่ผู้บริโภคได้รับ อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ประเมินว่าภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในไตรมาส 2 นี้จะยังไม่ฟื้นตัว โดยปัญหาการเมืองยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ
นายสิทธิพร กล่าวว่า ปัญหาการเมืองยืดเยื้อมากว่า 5 เดือน ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจลงทุนสร้างบ้านหลังใหม่ โดยเฉพาะใน กทม.ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการชุมนุมจะได้รับผลกระทบข้างรุนแรง รวมถึงภาคใต้ซึ่งกำลังซื้อชะลอตัวมาหลายเดือนแล้ว ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้านภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันแต่ไม่รุนแรงมากนัก
นอกจากนี้ ผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ยังทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวลดลง ผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับกำลังซื้อในตลาดพื้นที่เดิมที่ลดลง ทั้งด้านการบริหารจัดการ และวิธีทางการตลาด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายใหม่มากที่สุด เช่น 1.การขยายพื้นที่ให้บริการหรือขยายสาขาต่างจังหวัด 2.การเลือกใช้เครื่องมือสื่อสารทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ 3.การปรับกระบวนการบริหารจัดการในองค์กรให้สอดคล้องกับภาวะแรงงานขาดแคลนเป็นต้น
“ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึงแม้จะไม่มีวิกฤตการเมือง หรือเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็รับรู้ได้ว่าตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ด้วยเหตุหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ ที่ดินเปล่าสำหรับปลูกสร้างบ้านน้อยลง ราคาที่ดินแพง สินค้าที่เป็นคู่แข่งมีให้เลือกมากขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณความต้องการสร้างบ้านเองลดลง”