ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน 2557 ว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 32.20-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องจับตามาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กนง.ในวันที่ 18 มิ.ย. และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC ของเฟดระหว่างวันที่ 17-18 มิ.ย. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก เดือน มิ.ย. ดัชนีราคาผู้บริโภค ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
พร้อมกันนี้ ได้สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือน จากความต้องการเสี่ยงของนักลงทุน หนุนให้เงินบาท และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่แรงขายทำกำไรจะกดดันให้เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วน มาปรับตัวในกรอบแคบๆ เพื่อรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงกลางสัปดาห์ตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามความคาดหวังต่อมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ แรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และความคืบหน้าเกี่ยวกับช่วงเวลาการจัดตั้งรัฐบาล
โดยวันศุกร์ที่ 13 มิ.ย.57 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือนที่ 32.36 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 32.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับ 32.บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 มิ.ย.) ขณะที่ค่าเงินสกุลสำคัญในตลาดโลก เงินยูโรอ่อนค่า ก่อนลดช่วงติดลบลงบางส่วนปลายสัปดาห์ เงินยูโรเผชิญแรงขาย สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นรับข่าวตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความเห็นในเชิงคุมเข้มนโยบายจากเจ้าหน้าที่เฟด (ซึ่งตรงกันข้ามกับสัญญาณผ่อนคลายจาก ECB) ก็เป็นปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินยูโรฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ ภายหลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกว่าที่คาด (เช่น ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค.) กดดันให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง
เงินเยนแข็งค่าขึ้น โดยมีแรงหนุนในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย ภายหลังจากที่มีเหตุการณ์ตึงเครียดในอิรัก นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังไม่พิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเพิ่มเติมอีก ก็นับเป็นปัจจัยบวกของเงินเยนด้วยเช่นกัน
โดยศุกร์เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิ.ย. เงินยูโรอยู่ที่ 1.3560 เทียบกับ 1.3641 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโรในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 มิ.ย.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 101.98 เทียบกับ 102.47 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า