xs
xsm
sm
md
lg

ราคาทองคำโลกเข้าสู่ขาลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ราคาทองคำในระยะ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังอยู่ในช่วง “ขาลง” ต่อเนื่องจากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยราคาทองคำในประเทศไทยเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 19,200-19,950 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มาอยู่ที่ 32.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมอยู่ที่ 32.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนราคาทองคำในตลาดโลกเคลื่อนไหวทรงตัวที่ 1,237.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  สาเหตุมาจากภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จากหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งดาวโจนส์ และ S&P ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเปลี่ยนตลาดเข้าลงทุนโดยย้ายเงินเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นแทน

ระยะสั้นคาดว่า ราคาทองคำในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,215.50-1,275.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  ส่วนราคทองคำในประเทศน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 18,700-19,800 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท โดยต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐ กับเงินบาทประกอบด้วย คำแนะนำคือ ให้ถือเงินสด รอเข้าลงทุนช่วงที่ราคาทองอ่อนตัวลงมาที่ประมาณ 19,000 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอความเห็นว่าราคาทองอาจต่ำลงไปถึง 16,000 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาทนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งระยะนี้นักลงทุนควรติดตามความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในประเทศอย่างใกล้ชิด ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อราคาทองระยะนี้คือ การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง  เห็นได้จากโรงงาน  กิจการต่างๆ เริ่มเปิดดำเนินการอีกครั้งหลังจากได้รับผลกระทบจากฤดูหนาวที่ยาวนานผิดปกติ  ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 11.4% หลังจากซบเซามานาน

จากการสำรวจสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤษภาคมของธนาคารกลางสหรัฐฯ พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับปานกลาง ด้วยแรงหนุนของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ดีขึ้น  ควบคู่กับอัตราการว่างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวลดลงแม้ยังไม่ถึงระดับที่คาดหวังก็ตาม  ทั้งนี้ ตัวเลขภาคการผลิต  ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างขยายตัวขึ้น 0.2% เม็ดเงิน 9.535 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดนับจากเดือนมีนาคมปี 2552  การเพิ่มสต๊อกสินค้าส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2/14 อาจเติบโตขึ้น โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP อาจพุ่งถึง 4%  ตัวเลขสำคัญอย่างดัชนีกิจกรรมภาคโรงงานประจำเดือนพฤษาคม ที่พุ่งสูงถึง 55.4 จากเดือนเมษายน ที่อยู่ที่ 54.9  ดัชนีส่งออกพุ่งขึ้นเป็น 56.9 จาก 55.1  ซึ่งตัวเลขทั้งหมดบ่งชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ กำลังปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีการสำรวจพบว่าสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนของสหรัฐกำลังปรับตัวสูงขึ้น 2% ทำสถิติใหม่ที่ 81.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 1/14 ที่ผ่านมาเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญวิกฤตหนี้ครั้งใหม่ โดยมูลหนี้ดังกล่าวยังไม่รวมสินเชื่อบ้านมูลค่า 8.05 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าไว้ด้วย  ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2557 ผู้บริโภคอเมริกันมีบัตรเครดิตเฉลี่ยอยู่ที่ 7,115 ดอลลาร์ต่อคน  และหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 15,252 ดอลลาร์ต่อคน  สินเชื่อบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 152.209 ดอลลาร์ต่อคน  และยังมีสินเชื่อเพื่อการศึกษาคงค้างอยู่ที่ 1.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซี่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สหรัฐฯ มุ่งมั่นบริหารจัดการสินเชื่อภาครัฐบาลจนละเลยปัญหาสินเชื่อภาคครัวเรือน ที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วน

ปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งที่เริ่มคลี่คลายลงคือ ความตึงเคลียดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย เมื่อรัสเซียยอมถอนทหารออกจากแนวพรมแดนทั้งหมด  อีกทั้งยังมีผลการประชุมของคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป ที่คาดว่าจะใช้เงินถึง 400,000 ล้านยูโรในการอุ้มเศรษฐกิจของยูโรโซน หวังช่วยแก้ไข “ภาวะเงินฝีด” ควบคู่กับการใช้มาตรการ QE ซึ่งจะส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัดในทวีปยุโรปเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อดีราคาทองคำในระยะสั้น  

ขณะเดียวกัน ความพยายามของธนาคารกลางยุโรปในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และปรับอัตราเงินเฟ้อระยะกลาง และระยะยาวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ภาพระยะสั้นที่ภาวะเงินเฟ้อยังน่าเป็นหว่งจะเป็นสาเหตุให้ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน รวมถึงประชาชนก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย โดยระดับเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2% จาก 1.6% ในเดือนมีนาคม และระดับเงินเฟ้อของกลุ่ม G20 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จาก 2.5% มาอยู่ที่ 2.8%

ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรปครั้งที่ผ่านมา มีการนำมาตรการดอกเบี้ยมาใช้ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงต่ำกว่า 0% มาอยู่ที่ -0.1% เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย และกดดันให้ธนาคารต่างๆ ปล่อยกู้มากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรปยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ลงมาอยู่ที่ 0.15% จากเดิม 0.25% ส่งผลให้ค่าเงินยูโรร่วงลงทันที 0.2% มาอยู่ที่ 1.3571 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรปเตรียมเงิน 400,000 ล้านยูโรเพื่อใช้ในการปล่อยกู้แก่ภาคธนาคาร เป็นแรงจูงใจในการปล่อยกู้ให้แก่ภาคเอกชน  ส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก บริษัทนอกภาคการเงิน และปล่อยกู่ให้ประชาชนโดยหวังให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น