“คลัง” เตรียมชง 2 แนวทางปฏิรูปแบงก์รัฐ เน้นบริการประชาชนให้เข้าถึงด้านการเงิน พร้อมออกกฎหมายดูแลเป็นการเฉพาะ “ปลัดคลัง” นั่งหัวโต๊ะเอง คาดกำหนดแผนธุรกิจและประเมินผลงาน
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอแผนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (โรดแมป) ในส่วนของการปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 เรื่อง ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน โดยเน้นการให้บริการประชาชนที่เข้าไม่ถึงการบริการทางการเงินเป็นหลัก และการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลแบงก์รัฐเป็นการเฉพาะ รวมทั้งการเพิ่มความมั่นคงในระบบแบงก์รัฐ ที่ต้องแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน และการพัฒนาระบบการกำกับดูแล เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
ทั้งนี้ การปรับบทบาทของแบงก์รัฐให้เหมาะสมต่อการพัฒนาของระบบสถาบันการเงิน โดยเน้นให้บริการประชาชนที่เข้าไม่ถึงการบริการทางการเงิน ทั้งการปรับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงทางการเงิน รวมถึงปรับปรุงระบบประเมินผล และค่าตอบแทน แนวทางการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ และปรับปรุงกฎหมายการจัดตั้งแบงก์รัฐ เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง
ปัจจุบัน แบงก์รัฐมีความสำคัญมากขึ้นในระบบสถาบันการเงินไทย โดยมีหน้าที่ในการให้บริการประชาชน และธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ จึงควรมีการปรับปรุงระบบการกำกับดูแล และตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะควรสร้างความแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ และมีกรอบการดำเนินงานที่แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจทั่วไป เนื่องจากมีการรับฝากเงินจากประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงการคลังไม่ได้ออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลเท่าใดนัก ทำให้แบงก์รัฐยังขาดการกำกับดูแลที่ครอบคลุมความเสี่ยงที่ครบถ้วน
สำหรับการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลแบงก์รัฐเป็นการเฉพาะนั้น จะต้องมีคณะกรรมการนโยบายสถาบันแบงก์รัฐ โดยให้ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมีกรรมการเป็นผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สศค.เป็นเลขานุการ เพื่อรับผิดชอบ และกำกับดูแลแบงก์รัฐ กำหนดแผนธุรกิจและประเมินผลงานและบรรษัทภิบาลในด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ต้องให้ ธปท.มีหน้าที่ตรวจสอบแบงก์รัฐ และรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการสั่งแก้ไข ยกเว้นกรรมการ หรือผู้บริหารแบงก์รัฐมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อแบงก์รัฐ ให้ ธปท.มีอำนาจร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวได้ทันที รวมทั้งกำหนดบทลงโทษการฝ่าฝืนหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกรอบการดำเนินงานตามพันธกิจที่แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจทั่วไปที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สศค.จัดทำแผนธุรกิจร่วมกับแบงก์รัฐ ประเมินผล และค่าตอบแทนที่ไม่เน้นกำไรเป็นหลัก
โดยก่อนหน้านี้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนฝ่ายบริหารรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง คงต้องหารือให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยเบื้องต้นมองว่าแบงก์รัฐควรอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง เพราะมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง และมีความรู้ด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น เชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อการบริหารนโยบายของสถาบันการเงินมากกว่ากรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากที่อื่น