“กสิกรไทย” จัดมาตรการช่วยเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม “ท่องเที่ยว-รับเหมา-จำหน่ายสินค้าและเกษตร” ระบุรับผลกระทบหนักยอดขายลดกว่า 40% ให้ลดดอกเบี้ยโอดี 3% 3 เดือน และพักชำระเงินต้น 6 เดือน พร้อมเตรียมวงเงินปล่อยกู้อีก 7.5 หมื่นล้าน คาดทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่ม 55%
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)กล่าวว่า จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปลายที่ปีแล้วได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจติดลบ การลงทุนชะลอตัว ความเชื่อมั่น และการใช้จ่ายของประชาชนลดลง ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ลดลงกว่า 40% และหลายรายมีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่มีกระแสเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ให้คำปรึกษา และพิจารณาช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบตามความจำเป็นของแต่ละราย
นอกจากนี้ ทางธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่เอสเอ็มอีทั้ง 3 กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงเป็นวงกว้าง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศลดลง เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย การลงทุนของภาครัฐ และเอกชนชะลอตัวลง ประกอบกับชาวนาได้รับเงินจากการขายข้าวล่าช้ากว่ากำหนด
โดยธนาคารจะลดดอกเบี้ยวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (โอดี) ทุกรายทันที 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคมนี้ และพักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือนให้แก่ลูกค้าในกลุ่มนี้ อีกทั้งธนาคารยังได้เตรียมวงเงินกู้อีก 75,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ใหม่ให้เอสเอ็มอีอื่นที่ได้รับผลกระทบ และต้องการเงินลงทุน หรือวงเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 3% และพักชำระหนี้เงินต้นนาน 6 เดือนจะทำให้ลูกค้าใน 3 กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนมีเงินเพิ่มขึ้น 55% ต่อเดือน จากภาระหนี้ที่ลดลง ซึ่งลูกค้าสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย มีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีใน 3 กลุ่มดังกล่าวประมาณ 19,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินเร่งด่วน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเทียบกับภาระหนี้ที่มีกับธนาคารอยู่ในสัดส่วนที่สูงประมาณ 15,000 ราย
นายพัชร กล่าวอีกว่า การลดดอกเบี้ย 3% นาน 3 เดือน และพักชำระเงินต้นนาน 6 เดือน ที่ธนาคารให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มเอสเอ็มอีดังกล่าว จะไม่กระทบต่อกำไรของผู้ถือหุ้นธนาคารลดลง โดยเงินจากส่วนนี้อาจนำมาจากการลดเงินค่าโฆษณา และโบนัสพนักงานบ้าง เนื่องจากในปัจจุบันธนาคารให้ความสำคัญต่อการเร่งช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีก่อน
“มาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้คิดเป็นงบประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเชื่อว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ โดยไม่กระทบต่อกำไรของผู้ถือหุ้น เพราะธนาคารจะบริหารจัดการด้วยการลดค่าใช้จ่ายในด้านอื่นของธนาคารทดแทน”
สำหรับเป้าหมายสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้จะยังไว้ที่ 6-8% โดยในช่วง 5 เดือนแรกปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งหมดแล้ว 60,000 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 3 จะเพิ่มเป็น 75,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้ จะคุมไว้ไม่เกิน 2.62% จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2.68%