xs
xsm
sm
md
lg

บล.เอเซีย พลัส ระบุสัปดาห์หน้านักลงทุนในประเทศขับเคลื่อนดัชนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส คาดการณ์ความเคลื่อนไหวหุ้นไทยระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน  2557 ;jkทิศทางของตลาดหุ้นไทย จะถูกขับเคลื่อนโดยนักลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะมีลักษณะของการสลับกลุ่มลงทุนไปเรื่อยๆ ทางเลือกการลงทุนที่น่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดี คือ การเลือกลงทุนในหุ้นที่ Laggard ในกลุ่มต่างๆ เลือก SCC (FV@B 520) และ BTS (FV@B 11.20)

ปัจจัยการเมืองนิ่งขึ้น SET Index เคลื่อนไหวตาม โรดแมป 3 ระยะ
          สัปดาห์นี้เป็นไปได้ที่จะเห็นการเดินหน้าตามโรดแมป ระยะที่ 2 ของ คสช. ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดในมุมมองของการลงทุน โดยตามกระบวนการจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อม และองค์กรต่างๆ ขึ้นมาขับเคลื่อนการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว, การตั้งสภาปฏิรูป, การตั้งสภานิติบัญญัติ และการตั้งรัฐบาลขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศแทน คสช. ซึ่งระยะที่ 2 นี้น่าจะเป็นช่วงระยะเวลาที่ยาวนานที่สุด โดยหากเทียบเคียงกับการทำรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549 แล้วพบว่า ใช้เวลาตั้งแต่ 1 ต.ค.2549 จนถึง 23 ธ.ค.2550 (ประมาณ 1 ปี 3 เดือน) ความสนใจของนักลงทุนจึงอยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งสำคัญ และจะมีแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างไร ซึ่งจะถูกสะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวของ SET Index โดยภาพรวมทางการเมืองถือว่านิ่งขึ้น แต่นักลงทุนก็ยังต้องติดตามพัฒนาการของข่าวต่อไป

กลยุทธ์ Global & Domestic Play
          นับตั้งแต่ต้นปี 2557 แม้เศรษฐกิจไทยงวด 1Q57 จะหดตัว -0.6%yoy แต่ SET Index ปรับขึ้นไปได้ถึง 9% เมื่อแยกเป็นรายกลุ่มฯ จะพบว่ามีหลายกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดในช่วงเวลาเดียวกัน คือ การแพทย์ 35%, รับเหมาก่อสร้าง 31%, ชิ้นส่วนฯ 16%, อสังหาฯ 14%, ท่องเที่ยว-โรงแรม 14%, สื่อสารฯ 13%, ธ.พ. 13%, ประกันฯ 13%, ค้าปลีก 11% ส่วนกลุ่มที่น้อยกว่าตลาด คือ ปิโตรฯ -4.6%, พลังงาน 0.3%, สื่อ-บันเทิง 0.5%, อาหาร 3.8%, เกษตร 5.3%, ยานยนต์ 6.6%, วัสดุก่อสร้าง 7.4% หากพิจารณาเป็นรายหุ้นพบว่ามีแรงเก็งกำไรในหุ้นที่มีการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Play) เป็นหลัก (สวนทางกับช่วงก่อนหน้าที่หุ้นดังกล่าวมีการปรับลดลงเป็นส่วนใหญ่) กลยุทธ์จากนี้ไปแนะนำให้ผสมผสาน ระหว่างหุ้น Domestic และ Global  โดยแนะนำให้เลือกหุ้นที่ปรับตัว ขึ้นน้อยกว่าตลาด และน้อยกว่ากลุ่ม เลือก SCC (FV@B 520) และ BTS (FV@B 11.2) เป็น Top picks

การกระตุ้นเศรษฐกิจยังจำเป็นต่อยุโรป แต่อาจไม่เกิดในญี่ปุ่น
          ผลจากการขึ้นภาษีการขายจาก 3% เป็น 8% เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา กระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น เดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ 3.4%yoy สูงกว่าเดือน มี.ค.ที่ 1.6% สูงสุดในรอบ 23 ปี และสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% ถือว่าเป็นปัจจัยกดดันต่อการบริโภคภาคครัวเรือนอย่างมาก เนื่องจากค่าแรงยังคงชะงัก จึงมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วง 2Q57 จะชะลอตัวจากไตรมาสแรกอย่างมาก จึงคาดว่าน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่นการปรับลดอัตราภาษีบริษัทลงมาที่ 25% เพื่อชดเชยผลกระทบจากการขึ้นภาษีขาย และคาดว่า BOJ ก็น่าจะยืนดอกเบี้ยระดับต่ำ 0.25% ต่อไป โดยรวมน่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะผันผวนต่อไป ขณะที่สหภาพยุโรป ยังอยู่ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ระดับต่ำต่อเนื่อง โดยในเดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 0.7% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อย่างมาก จึงเป็นที่คาดหมายว่า การประชุมวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะมีมาตรการเพิ่มการอัดฉีดสภาพคล่อง และมาตรการ QE และคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำใกล้ศูนย์ต่อไป

ต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง ขณะที่ซื้อภูมิภาคเบาบาง
          สัปดาห์ที่ผ่านมา (26-29 พ.ค.2557) นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค แต่ลดลงเหลือเพียงราว 370 ล้านเหรียญฯ แต่ยังคงขายสุทธิหุ้นในประเทศไทยต่อเนื่องเพิ่มเติม อีก 1.1 หมื่นล้านบาท (เป็นการขายสุทธิอย่างหนัก 8 วันหลังสุด รวม 3.1 หมื่นล้านบาท) ทำให้ยอดสุทธิตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2557 เป็นต้นมา กลับเป็นขายสุทธิ 2.6 พันล้านบาท ในขณะที่เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 32.8 บาทต่อเหรียญฯ และน่าจะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมที่อาจทำให้ต่างชาติยังคงเป็นผู้ขายกดดันตลาดหุ้นไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น