“กรมบัญชีกลาง” เตรียมของบฯ ปี 58 เพิ่มรองรับค่ารักษาพยาบาล จากเดิมที่ 6 หมื่นล้านบาท ยอมรับปัจจุบันต้นทุนการรักษาพยาบาลปรับสูงขึ้น และต้องจ่ายงบเพิ่มหลายส่วน
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารโรงพยาบาลกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ โดยแจ้งต่อที่ประชุมว่า ในงบประมาณปี 2557 ได้รับการจัดสรรค่ารักษาพยาบาลประมาณ 60,000 ล้านบาท สิ้นเดือนเมษายนเบิกจ่ายไปแล้ว 35,000 ล้านบาท ผ่านมาแล้วเกินครึ่งปีงบประมาณน่าจะเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย แต่ปัจจุบัน ต้นทุนการรักษาพยาบาลปรับสูงขึ้น และต้องจ่ายงบเพิ่มหลายส่วน ดังนั้น งบประมาณปี 2558 จึงจำเป็นต้องขอจัดสรรเพิ่มขึ้นจากเดิมได้รับ 60,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาการตั้ง National Clearing House เป็นหน่วยงานกลางที่ตั้งขึ้นมาใหม่เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางมีภาระงบประมาณเพิ่มในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ข้าราชการ 3 ด้าน คือ 1.การเพิ่มอัตราค่าห้องพิเศษจากเดิม 600 บาท เพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อคืน ค่าห้องสามัญจาก 300 บาท เพิ่มเป็น 400 บาท หลังจากไม่ได้ปรับมาหลาย 10 ปีแล้ว ต้องใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท 2.การเพิ่มรายการอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการรักษาบำบัดโรค เช่น อนุญาตให้เบิกเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก สำหรับผู้ป่วยโรคพากินสัน การปรับเพิ่มอวัยวะเทียมบางประเภท ต้องใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท
3. การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากต้นสังกัดจากร้อยละ 30 เพิ่ม เป็นร้อยละ 50 ตามที่จ่ายจริง หรือไม่เกิน 8,000 บาท โดยแยกจากค่าห้อง ค่าอวัยวะเทียม ต้องใช้เงินเพิ่มเติม 219 ล้านบาท จึงต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น 2,319 ล้านบาท และปีนี้กรมบัญชีกลาง ต้องให้สถานพยาบาลอีก 800 แห่ง ส่งข้อมูลเช่นเดียวกับสถานพยาบาล 168 แห่ง ที่ดำเนินการไปแล้ว เมื่อนำบัญชียาหลัก และรหัสยามาตรฐานมาเป็นเครื่องมือในการส่งข้อมูล โดยขณะนี้คณะทำงานต้องร่วมกันกำหนดราคายาให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างเหมาะสม
นายมนัส กล่าวว่า งบประมาณปี 2558 ต้องการขยายโครงการให้ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้เพิ่มอีก แม้ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน โดยเป็นผู้ป่วยนัดรอการผ่าตัดล่วงหน้าในกลุ่มโรค 77 โรค ปัจจุบัน มีโรงพยาลบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 30 แห่ง จึงต้องขยายโครงการเพิ่ม นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังเดินหน้าพัฒนาระบบเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยนอกแบบเหมาจ่ายตามกลุ่มโรค โดยโครงการแรกจะครอบคลุมผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3 โรค คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเส้นเลือดสูง