ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (19-23 พฤษภาคม 2557) เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-32.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนต้องจับตาสถานการณ์การเมือง และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/57 ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน เม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังน่าจะจับตาวิกฤตในยูเครน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน พ.ค. ของหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนี้ ได้สรุปความเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-16 พฤษภาคม 2557) ว่า ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าช่วงท้ายสัปดาห์ จนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ 32.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงกลางสัปดาห์ตามการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย กระนั้นก็ดี เงินบาทกลับมาเผชิญแรงขายอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น ขณะที่นักลงทุนก็ยังคงรอดูพัฒนาการทางการเมืองในประเทศต่อไป จนมาปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 16 พ.ค. เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.48 เทียบกับระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ 9 พ.ค.
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลสำคัญ เงินยูโรร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง ทั้งนี้ เงินยูโรทรงตัวในกรอบแคบๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ (แม้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนแถบตะวันออกของยูเครน จะประกาศชัยชนะในการลงประชามติเรื่องแยกตัวเป็นเอกราชออกจากยูเครน) ก่อนจะทยอยอ่อนค่าลงในช่วงต่อมาท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวมีสัญญาณอ่อนแอ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสถาบัน ZEW ในเยอรมนี ที่ปรับตัวลงในเดือน พ.ค. และจีดีพีไตรมาส 1/57 ของยูโรโซนที่ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าเพียง 0.2% นอกจากนี้ รายงานจากสำนักข่าวดาวโจนส์ที่ระบุว่า ธนาคารกลางเยอรมนี จะสนับสนุนการใช้มาตรการผ่อนคลายของ ECB ในเดือน มิ.ย. ก็เป็นปัจจัยกดดันเงินยูโรด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี แรงขายเงินยูโรเริ่มชะลอลงในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่หดตัวเกินคาด กดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลง
เงินเยนแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน โดยได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซน จีน และสหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน ขณะที่การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ (16 พ.ค.) เงินยูโรอยู่ที่ 1.3705 เทียบกับ 1.3757 ดอลลาร์ต่อยูโรในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 พ.ค.) ส่วนเงินเยนอยู่ที่ 101.45 เทียบกับ 101.85 เยนต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 พ.ค.)