ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธปท.แถลงภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาสแรกปี 57 ชะลอตัวต่อเนื่อง เหตุปัจจัยหลักทุกด้านทรุด ทั้งการบริโภคภาคเอกชนลดลง ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญลดลงทุกชนิด ยอดขายรถยนต์ทรุดฮวบ ขณะที่สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ห้องประชุม 301 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มี ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารร่วมแถลง
ดร.พิชิตเปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 2556 เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อของเกษตรกรที่มีรายได้ลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งยอดขายรถยนต์ลดลงต่อเนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือน รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากภาคก่อสร้างเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอีสานได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากเงินโอนภาครัฐ และการค้าตามแนวชายแดนที่ยังคงเกินดุล โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.55 เร่งตัวขึ้นบ้างจากราคาเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงหุงต้ม ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
ดร.พิชิตกล่าวว่า ดัชนีการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 ตามกำลังซื้อของเกษตรกรที่มีรายได้ลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากครัวเรือนยังกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมถึงหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 และลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทั้งภาคการก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งจากการรอความชัดเจนของโครงการขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน ยกเว้นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่หดตัวมาก แต่คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกกระทบและยังมีศักยภาพที่จะลงทุนในระยะต่อไปหากสภาพแวดล้อมอำนวย
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโอนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยเฉพาะค่าเบี้ยผู้สูงอายุให้แก่ อปท.ที่ขยายตัว รวมทั้งการค้าตามแนวชายแดนที่ยังคงเกินดุลตามการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ยังมีกำลังซื้อจากนอกภาคเกษตรบ้าง
ผู้อำนวยการ ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงการผลิตภาคเกษตรกรรมว่า ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 และหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากราคาพืชสำคัญลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.6 และหดตัวต่อเนื่องไตรมาสก่อน จากผลของราคาทุกพืชหลักที่หดตัวตามราคาตลาดโลก ทั้งราคาข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และยางพารา โดยเฉพาะราคาข้าวลดลงจากการระบายข้าวของรัฐ ขณะที่ดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 ตามผลผลิตอ้อยโรงงานเป็นสำคัญ
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 แต่หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 12.5 จากการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยังขยายตัวดี ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังคงหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากโรงงานบางแห่งมีการปรับลดสายการผลิตบางสาย ประกอบกับสต๊อกสินค้ายังอยู่ในระดับสูงจากการปรับราคาขาย ส่วนการผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Haed Disk Drive หดตัวตามความต้องการต่างประเทศที่ชะลอตัวลง
ขณะที่ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์มีเงินฝากคงค้าง 608.7 พันล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 จากเงินฝากทุกประเภท ด้านสินเชื่อคงค้าง 788.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากความสามารถการชำระหนี้ครัวเรือนเริ่มมีข้อจำกัด
สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีเงินฝากคงค้าง 369.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.5 ตามการขยายตัวของเงินฝาก ธ.ก.ส. ด้านสินเชื่อคงค้าง 956.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.5 จากสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.55 เร่งตัวขึ้นบ้างจากไตรมาสก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้านสูงขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนของราคาเชื้อเพลิงหุงต้มในบ้านที่ทยอยปรับสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.74 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อน สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะปรับสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6