xs
xsm
sm
md
lg

จับตาสถานการณ์การเมือง ต่างชาติตัวแปรสำคัญชี้ทิศทางตลาดหุ้นไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โบรกเกอร์แนะนักลงทุนจับตา 2 ปัจจัยหลัก สถานการณ์การเมือง การแต่งตั้งนายกฯ และอณุหภูมิทั้ง 2 ม็อบ รวมทั้งแนวโน้มการเข้าซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ชี้เป็นตัวกำหนดทิศทางหุ้นไทยที่ผันผวนในช่วงนี้ หวังวุฒิสภาหาทางออกที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย ดันความเชื่อมั่นกลับคืน

ปิดตลาดหุ้นวันจันทร์ที่ 12 พ.ค. หุ้นไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,375.14 จุด ลดลง 2.23 จุด มูลค่าการซื้อขาย 27,943.42 ล้านบาท เปลี่ยนแปลง -0.16% โดยระหว่างวันดัชนีแตะจุดสูงสุดที่ 1,379.27 จุด และต่ำสุดที่ 1,369.63 จุด

บล.กสิกรไทย ให้ความเห็นว่า การซื้อขายในช่วงนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงา ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนลบต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากปัจจัยการเมืองที่เริ่มเข้าสู่ภาวะตึงเครียด เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ต่างฝ่ายต่างเดินเกมเพื่อสร้างความได้เปรียบในการควบคุมเกม ทำให้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นเป็นระยะ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมาก ทำให้แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันพุธที่ 14 พ.ค. ดัชนีน่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบๆ และอาจลงไปทดสอบระดับ 1,350 จุดได้ โดยยังคงต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง หากได้รับข่าวเชิงบวกที่ช่วยลดความรุนแรงลง หรือมีปัจจัยใหม่ อย่างเช่นผลการคัดเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ ที่ทั้งฝ่ายคัดค้าน และฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย อาจจะส่งผลในเชิงบวกต่อตลาดได้ พร้อมให้กรอบแนวรับที่ 1,350-1,365 จุด และแนวต้าน 1,390 จุด

ด้าน นายสุรสีห์ จงไชโย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ฟินันซ่า กล่าวว่า เศรษฐกิจภายในประเทศจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ยังหาทางออกไม่ได้ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2554 พ้นสภาพ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในกำหนดการเลือกตั้งใหม่ จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผู้บริโภค ทำให้คาดการณ์ว่าการบริโภค การลงทุน และการผลิตจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลต่อการอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ปัจจัยที่นักลงทุนยังคงต้องจับตามอง คือ ปัญหาการเมืองที่ยังไม่มีบทสรุป ถึงแม้ว่าจะมีการประชุมออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง แต่ยังต้องจับตานักลงทุนต่างชาติจะมีแรงเทขายออกมาต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ทั้งนี้ประเมินแนวรับที่ 1,350-1,360 จุด และแนวต้านที่ 1,378-1,400 จุด.

เช่นเดียวกับ น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า ภาพของการเมืองที่ยังไร้ความชัดเจน ตลอดจนมีการชุมนุมของ 2 กลุ่มการเมือง ทั้ง กปปส. และ นปช.ที่กังวลว่าอาจจะเกิดการปะทะกันเกิดขึ้น แม้ว่าเมื่อช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาเหตุการณ์การชุมนุมจะผ่านไปด้วยดีก็ตาม ขณะที่กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เป็นตัวหลักในการผลักดันดัชนีฯ ปรับบวกมากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ก็เริ่มอ่อนแรงลง ทำให้ต้องจับตาว่ากระแสเงินทุนที่ชะลอตัวลงของนักลงทุนต่างชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป

สำหรับตลาดหุ้นไทยวันพุธที่ 14 พ.ค. คาดว่า จะแกว่งตัวผันผวน เนื่องจากนักลงทุนรอดูผลการหารือระหว่าง กกต. กับรัฐบาลถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้อีกครั้งหรือไม่ และจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้เมื่อไหร่ โดยประเมินแนวรับ 1,370-1,360 แนวต้าน 1,390 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น