วสท.แนะกันเชียงใหม่ เชียงราย เป็นพื้นที่ควบคุม เร่งรัฐเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทุกอาคาร สั่งเฝ้าระวัง 72 ชั่วโมง อาคารในรัศมี 50 กม. มีโอกาสพังหลังเกิดอาฟเตอร์ช็อกกว่า 100 ครั้ง ห่วงอาคารเก่าในกทม.สร้างก่อนปี 50 สูงไม่เกิน 10 ชั้นเสี่ยงพัง แนะเสริมความแข็งแรงรองรับแผ่นดินไหวได้ พร้อมเร่งให้ความรู้ประชาชนปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุ ย้ำแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัว โอกาสเกิดบ่อยขึ้น
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า วสท.แนะกำหนดอาคารสิ่งปลูกสร้างใน จ.เชียงราย และเชียงใหม่เป็นพื้นที่ควบคุม และให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เข้าไปตรวจสอบทุกแห่ง พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ตัวอาคารสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7 ริกเตอร์ได้
“จากนี้ไปทุกอาคารใน 2 จังหวัดนี้ ควรต้องตรวจสอบโครงสร้างทั้งหมด และปรับแต่งใหม่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้รองรับแผ่นดินไหวได้เพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าจะต้องมีต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการ์สึนามิ ที่จ.ภูเก็ต จนมาถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ และแผ่นดินไหวก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว” นายสุชัชวีร์ กล่าว
ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนจะต้องรู้หลักในการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในสถานการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ถึงเวลาที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญต่อภัยธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมากว่า 100 ครั้ง ซึ่งเกิดจากรอยเลื่อนพะเยาที่ยังมีพลังอยู่ อีกทั้งมีจุดศูนย์กลางตื้นเพียง 7 กิโลเมตรลงไปจากพื้นดิน จึงทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงสูง และถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางในประเทศไทยขนาดสูงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออาคารสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตร โดยวันนี้ (7 พ.ค.) วสท.จะส่งตัวแทนลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ โครงสร้างอาคาร และให้คำแนะนำกับประชาชนในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อไป
เบื้องต้น วสท. ได้เตือนให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ต่ออีก 72 ชั่วโมง โดยให้ตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ว่า อาคาร สิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยนั้นผิดรูปไปจากเดิมหรือไม่ มีรอยร้าวหรือไม่ โดยเฉพาะที่เสา และคาน หากมีรอยร้าว ให้แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ควรกลับเข้าไปอยู่อาศัยอีก แต่หากไม่มี ก็ไม่ต้องกังวล
ที่สำคัญให้เฝ้าระวังอาคารสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่รัศมีไม่เกิน 50 กม. จากจุดศูนย์กลางฯ ซึ่งไม่ได้ก่อสร้างตามหลักทางวิศวกรรมฯ ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะพังทลายลงมาได้อีกหากเกิดอาฟเตอร์ช็อกขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงราย พะเยา และลำปาง พร้อมทั้งตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างบริเวณไหล่เขาที่อาจเกิดดินถล่มหลังแผ่นดินไหวได้ หากในพื้นที่นั้นมีรอยแตก รอยร้าวอยู่เมื่อเจอฝนตก ซึ่งในช่วง 5-7 พ.ค.นี้ ที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า จะมีฝนตก แม้ว่าจะไม่มากแต่อาจมีนัยสำคัญต่อรอยแยกเหล่านั้นได้ รวมถึงปรากฏการณ์ทรายเหลวซึ่งทำให้หน้าดินสไลด์ ถนนพัง
อย่างไรก็ตาม จะต้องดูในเชิงลึกอีกครั้งว่า สาเหตุที่ถนนพังนั้นเป็นเพราะดินสไลด์ รับน้ำหนักถนนไม่ได้ เมื่อดินถูกเขย่ารุนแรง หรือว่าการก่อสร้างไม่ดีพอจึงทำให้ถนนทรุด ขณะเดียวกัน ให้เฝ้าระวังเขื่อน และอ่างเก็บน้ำในรัศมี 200 กม. ด้วยที่อาจมีรอยแตก รอยแยก ต้องให้หน่วยงานที่ดูแลเขื่อนต่างๆ ที่มีมีอยู่กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตรวจสอบทุก 6 ชั่วโมงว่ามีน้ำรั่วซึมหรือไม่ จนกว่าจะครบ 72 ชั่วโมง จึงจะถือว่าปลอดภัย
หากพบรอยแตกร้าวให้เร่งระบายน้ำออก และซ่อมแซมโดยเร็ว ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ในรัศมี 200 กม.ที่น่าเป็นห่วงมีเพียงแห่งเดียวคือ เขื่อนแม่จาง รัศมี 155 กม. ส่วนเขื่อนภูมิพลนั้นอยู่ห่างออกไป 280 กม.และเขื่อนสิริกิติ์ 230 กม. จึงไม่น่ากังวล
ส่วนอาคารต่างๆ ภายในกรุงเทพมหานคร ที่สูงเกินกว่า 10 ชั้น และสร้างหลังปี 50 นั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับผลกระทบทางโครงสร้างใดๆ จากแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนพะเยา เพราะส่วนใหญ่ต้องออกแบบ และก่อสร้างตามกฎหมายที่มีระบบป้องกันแผ่นดินไหวไว้แล้ว หรือกฎกระทรวงของกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารรับแรงแผ่นดินไหว และรายละเอียดโครงสร้างที่ มยผ. 1301 -52 ที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานนานาชาติ อีกทั้งโครงสร้างอาคารเป็นเหล็กกล้าสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 7 ริกเตอร์
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเป็นห่วงอาคารเก่าอาคารที่สูงไม่เกิน 10 ชั้น และที่ก่อสร้างก่อนปี 50 ซึ่งโครงสร้างยังเป็นคอนกรีต ต้องเข้าไปตรวจสอบว่าโครงสร้างเสียหายหรือไม่หากจะกังวลถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว อาคารใน กทม. ให้จับตาการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นหลัก ที่จะส่งผลกระทบถึงอาคารใน กทม.ทั้งหมด ส่วนโครงสร้างของรถไฟฟ้า ทั้งบีทีเอส และเอ็มอาร์ที นั้น ถือว่าแข็งแรงมาก ถูกสร้างมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ปลอดภัยแน่นอน แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนกาญจนบุรีที่จะเป็นอันตรายต่ออาคารสิ่งปลูกสร้างใน กทม.ก็ตาม
ทั้งนี้ วสท.และกรมโยธาธิการจะเร่งหามาตรการร่วมกันในการเสริมความแข็งแรงของตัวอาคาร เบื้องต้นแนะนำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุง หรือปรับแต่งอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้รองรับแผ่นดินไหวได้ ด้วยการเสริมเหล็กไขว้ หรือกำแพงผนังเฉียงอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอาคารสาธารณะต่างๆ เช่น โรงพยาบาล วัด สถานบริการต่างๆ เป็นอันดับแรก รวมทั้งทำแนวทางปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน และเมื่อเกิดขึ้นแล้วประชาชนไม่ทราบว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น ต้องกลับเข้าไปในอาคารที่มีรอยร้าว เป็นต้น
อนึ่ง จากข้อมูลกรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดอาคารที่ก่อสร้างหลังจากวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550 กฎกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้อาคารสูงขนาด 15 เมตรขึ้นไป หรือตั้งแต่ 5 ชั้นขึ้นไป ให้ออกแบบโครงสร้างเผื่อรับแรงแผ่นดินไหวซึ่งอาคารดังกล่าวสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้มากถึง 5 ริกเตอร์ ส่วนอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 หรือช่วงที่กฎกระทรวงต้านทานแผ่นดินไหวยังไม่บังคับใช้ หากเป็นอาคารสูง จะไม่มีผลกระทบเช่นกัน เพราะทุกอาคารจะมีกฎหมายต้านแรงลม ตามหลักคำนวณของวิศวกร การออกแบบอาคารจะเผื่อโครงสร้างรับแรงลมกรณีเกิดพายุ ซึ่งไม่ต่างกับแผ่นดินไหว และสามารถใช้ร่วมกันได้
สำหรับอาคารที่อยู่ในข่ายดังกล่าวจะต้องตรวจสอบสภาพโครงสร้างอาคารตามกฎหมายตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท เช่น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารอยู่อาศัยรวม โรงพยาบาล โรงแรม สถานศึกษา โรงมหรสพ อาคารชุมนุมคน อาคารศูนย์การค้า ป้าย ของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงานโดยให้วิศวกร หรือบริษัทรับตรวจสอบอาคาร ตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี และตรวจสอบย่อยทุกปี