โบรกฯ เตือนภาวะหุ้น พ.ค. แนวโน้มผันผวนสูง โดยประเมินช่วงครึ่งหลังของเดือนจะมีความเสี่ยงด้านราคามากกว่าในช่วงครึ่งแรกของเดือน ซึ่งหากมองในทางบวกคาดว่ากระแสทุนต่างชาติยังไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย และหุ้นไทย ชี้การเมืองใกล้ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ สถานการณ์อยู่ในภาวะที่คาดการณ์ได้ยาก และจะเกิดเหตุการณ์เป็นลำดับอย่างไรตามมา เนื่องจากเป็นภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) มองแนวโน้มการเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (วันที่ 6-9 พ.ค.) โดยประเมินว่า Fund Flow ยังไหลเข้า แต่การเมืองจะสร้างแรงกดดันทำให้ SET Index มี Upside จำกัด แนะนำเก็งกำไรในหุ้นที่คาดว่า ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2557 จะโดดเด่น ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจโลก
“มองว่าการเมืองเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยวันอังคารที่ 6 พ.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการไต่สวนพยาน 4 ปาก ในคำร้องให้วินิจฉัย ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวหรือไม่ จากกรณีการย้ายเลขาธิการ สมช. หลังจากนั้น ประเมินว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ในการที่จะมีการนัดอ่านคำวินิจฉัย”
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่า เร็วที่สุดก็น่าจะเป็นวันที่ 8 พ.ค.2557 แต่ความเป็นไปได้มากที่สุดน่าจะเป็นช่วงวันที่ 14-15 พ.ค.2557 หากศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ก็จะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางการเมือง และทำให้สถานการณ์อยู่ในภาวะที่คาดการณ์ได้ยากว่า จะเกิดเหตุการณ์เป็นลำดับอย่างไรตามมา เนื่องจากเป็นภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่จะสร้างแรงกดดันต่อ SET Index อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การนัดชุมนุมของ กปปส. ที่กำหนดนัดหมายในวันที่ 5 พ.ค.2557
นอกจากนี้ การรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2557 ของบริษัทจดทะเบียนที่อิงกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ปรากฏว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าทำกำไรได้ต่ำกว่าคาด โดยกลุ่มค้าปลีกอย่างเช่น BIGC, HMPRO ได้รับผลกระทบจากการเมืองในประเทศ และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกดดันยอดขาย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่าผลประกอบการของกลุ่มอุตสาหกรรมที่อิงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะทยอยประกาศออกมา น่าจะสามารถแสดงกำไรที่โดดเด่น และน่าจะส่งผลดีต่อราคาหุ้น โดยหุ้นเด่น ได้แก่ IVL ซึ่งคาดว่า 1Q57 จะสามารถพลิกจากขาดทุนงวด 4Q56 มาเป็นกำไร ตามด้วย IRPC (FV@4.2B) จะมีกำไรดีขึ้นจากงวด 4Q56 และตลอดปี 2557 น่าจะมีกำไรเติ้บโตถึง 2.5 เท่าจากปีที่ผ่านมา
ด้านนักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนสูงขึ้นอีกในเดือน พ.ค. เพราะมีปัจจัยบวกและลบเข้าสู่ตลาดในน้ำหนักที่ใกล้เคียงกัน โดยในทางบวกคาดว่ากระแสทุนต่างชาติยังไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย และหุ้นไทย สืบเนื่องจากทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ ที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณฟื้นตัว
ส่วนปัจจัยลบได้แก่ 1.แรงขายหุ้นรับผลประกอบการไตรมาส 1 ซึ่งภาพรวมน่าจะออกมาไม่แข็งแกร่งนัก 2.ราคาหุ้นที่ขึ้นมาแรง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ใกล้กับเป้าหมายกลางปี 2557 ที่ 1,430 จุดแล้ว
3.ภาวะการเมืองยังประเมินได้ยาก โดยในเดือน พ.ค.อาจมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลรักษาการหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี โยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อปี 2554 และการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีที่นายกฯ ถูกกล่าวหาละเลยเพิกเฉยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยภาพรวมคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในครึ่งหลังของเดือน พ.ค. จะมีความเสี่ยงด้านราคามากกว่าในช่วงครึ่งแรกของเดือน
ดังนั้น การเลือกหุ้นแนะนำเดือน พ.ค. จะเน้นหุ้นที่แนวโน้มกำไรโดดเด่นไปถึงไตรมาส 2/2557 เพื่อให้มีความทนทานต่อความผันผวนของตลาดรวมได้ดี และมีความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการค่อนข้างน้อย ในกลุ่มนี้เลือกหุ้น KCE, SAMART, SPALI, THCOM และ TUF ส่วนประเด็นการลงทุนอื่นๆ นั้น เลือกหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาปรับขึ้นช้า เช่น INTUCH* และหุ้นที่เชื่อมโยงกับปัจจัยการเมือง เช่น AMATA* และ STEC* เนื่องจากข่าวสารการเมืองที่อาจมีความชัดเจนในเดือนนี้อาจส่งผลดีอย่างมีนัยสำคัญต่อหุ้นลักษณะดังกล่าวได้
ขณะที่ บล.เคที ซีมิโก้ ระบุว่า จากสถิติย้อนหลังพบว่าการลงทุนในเดือน พ.ค.ให้ผลตอบแทนติดลบ โดยสถิติย้อนหลัง 10 ปี (ปี 47-56) พบว่ามีโอกาสเพียง 40% ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เดือน พ.ค.ปิดสูงขึ้น โดยให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย -0.07% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 13.98% ในปี 2552 ขณะที่ผลตอบแทนต่ำสุดอยู่ที่ -7.66% ในปี 2549 ขณะที่เดือน มิ.ย. ตลาดให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย +0.07% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.
สำหรับกระแสเงินทุนต่างชาติ สถิติเดือน พ.ค.ย้อนหลัง 10 ปี (ปี 47-56) พบว่า นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง -1.18 หมื่นล้านบาท และขายต่อเนื่องในเดือน มิ.ย.อีก -7.26 หมื่นล้านบาท ก่อนจะกลับมาซื้อสุทธิในเดือน ก.ค. +7.12 ล้านบาท สะท้อนความเสี่ยงของการกลับมาขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอาจเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.นี้