xs
xsm
sm
md
lg

“มูดี้ส์” ยังไม่หั่นเครดิตไทย มองแนวโน้ม “จีดีพี” ปี 57-58 อาจโตต่ำกว่า 3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สบน.” เผย “มูดี้ส์” ยังไม่หั่นเครดิตไทย โดยคาดการณ์ “จีดีพี” ปี 57-58 อาจโตต่ำกว่า 3% พร้อมระบุปัญหาการเมืองยืดเยื้อ บั่นทอนภาวะ ศก. ลงทุนภาครัฐ-เอกชน ล่าช้า

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service (Moody’s) รายงานว่า อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ Baa1 โดยมีแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ ยังคงเป็นผลมาจากสถานะทางการเงินของรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่ง เห็นได้จากต้นทุนการระดมทุนที่ต่ำ และโครงสร้างหนี้ที่เอื้ออำนวย รวมทั้งความผันผวนจากปัจจัยภายนอกมีอยู่อย่างจำกัด โดยปัจจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานะที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลังปี 2557 หรือหากความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบเชิงลบไปยังภาคการท่องเที่ยว หรือภาคการผลิต สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ หากต้นทุนการระดมทุนของรัฐบาลสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะดุลการชำระเงินอ่อนแอลงโดยฉับพลัน รวมทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญก็จะเป็นผลลบต่อความน่าเชื่อถือเช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการจัดการเลือกตั้งรอบใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด Moody’s เห็นว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงจุดที่จะส่งผลให้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างฉับพลัน แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

รายงานดังกล่าวระบุว่า การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2556 กำลังส่งผลกระทบเชิงลบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2557 และ 2558 หากยังคงดำเนินต่อไป อาจบั่นทอนจุดแข็งหลักของความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตปี 2557-2558 จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการลงทุนของภาครัฐ และเอกชนที่ล่าช้าออกไป และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง

นอกจากนี้ ในรายงานของ Moody’s ยังระบุว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้ง 2 ปี น่าจะชะลอตัวลงต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8

นอกจากนี้ Moody’s คาดว่าจะมีแรงกดดันตามวัฏจักรต่อภาคการธนาคารของไทยซึ่งได้รับแรงผลักดันมาจากสภาพแวดล้อมที่ท้าทายของเศรษฐกิจมหภาค และวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยทาง Moody's เห็นว่า การเติบโตของสินเชื่อจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพของสินทรัพย์เสื่อมลงบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น