ผู้อำนวยการ สบน. ตั้งคณะทำงานดูโครงการลงทุนภาครัฐปี 58-59 เพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ หลัง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ สศค. เตรียมจัดทำแผนกระตุ้น ศก. เพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ทันทีหากเข้ามาทำงาน
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รวมถึง สำนักงบประมาณ เพื่อหาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นแผนการลงทุนภายใต้ปีงบประมาณ 2558-2559 ภายหลังพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยในที่ประชุมมีมติตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความสำคัญของโครงการลงทุนตามความพร้อมของแต่ละโครงการ ว่าควรทำอันไหนก่อนหลังให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายใน 30-45 วัน เพื่อเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องให้รัฐบาลใหม่พิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้ เตรียมนำ 53 โครงการมาพิจารณา โดยเป็นโครงการได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงหลายเส้นทาง สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟชานเมืองสายสีแดง ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ไปแล้ว จึงเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2557
ดังนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองแต่อย่างใด สำหรับแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างมาจากงบประมาณประจำปี การกู้เงินตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะปี 2558 และการร่วมทุนกับภาคเอกชน ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน (PPP) โดย สบน. ยืนยันบริหารภาระหนี้ให้อยู่ในกรอบวินัยทางการเงินการคลัง
สำหรับความคืบหน้าการจัดหาแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการรับจำนำข้าว โดยต้องจัดหาเงินส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 90,000 ล้านบาทนั้น น.ส.จุฬารัตน์ ยืนยันกำลังพิจารณาหาแหล่งเงินกู้เงินดังกล่าวตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้ได้ในปัจจุบัน
ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง โดยระบุว่า ตนเองได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเตรียมให้รัฐบาลใหม่พิจารณาทันที หลังจากเข้ามาบริหารงาน โดยเน้นมาตรการการกระตุ้นการบริโภคในประเทศมากกว่ามาตรการทางภาษีที่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดมากขึ้น
นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า ตนเองได้หารือกับทางสำนักงบประมาณ ถึงความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2558 แล้ว โดยยอมรับว่า ความล่าช้าดังกล่าวจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้เหลือเพียงร้อยละ 2.6 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 ตามที่ สศค. ได้ประเมินไว้ จึงต้องมีการเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจทันที หากได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำงาน
อย่างไรก็ตาม การเบิกจายเงินงบประมาณประจำ และงบประมาณผูกพัน ยังสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ตามปกติ แต่ในส่วนงบลงทุนใหม่ๆ นั้นคงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานก่อน