xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบการซื้อขายหุ้น RASA ย้อนหลัง ชี้ราคาพุ่งแรงก่อนแจงข้อมูลเทกโอเวอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยอมรับส่ง จนท.ตรวจสอบการซื้อขายหุ้น RASA ย้อนหลัง พร้อมขอข้อมูลจากโบรกเกอร์ กังขาราคาหุ้น RASA พุ่งขึ้นแรง ก่อนแจงข้อมูลเทกโอเวอร์ ขณะที่รายย่อยเข้าผสมโรง

รายงานข่าวแจ้งว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการซื้อขายย้อนหลังของหุ้นบริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ RASA เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น RASA มีพฤติกรรมที่ผิดไปจากสภาพปกติ และได้ติดต่อขอข้อมูลการซื้อขายจากโบรกเกอร์เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการซื้อขาย อย่างไรก็ตาม การที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงต่อเนื่อง เพราะมีนักลงทุนรายย่อยได้เข้าไปผสมโรงร่วมเก็งกำไรจำนวนมาก ดังนั้น ราคาจึงปรับตัวขึ้นแรง

แหล่งข่าวระดับสูงจาก ตลท. ยอมรับว่า การตรวจสอบการซื้อขายหุ้น RASA ถือว่าเป็นการตรวจสอบในระดับปกติ เมื่อราคาหุ้นร้อนแรง และมีพฤติกรรมการซื้อขายที่แตกต่างจากสภาพปกติ เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นการทำงานตามขั้นตอนของตลาดหลักทรัพย์ฯ

อย่างไรก็ตาม มาตรการของ ตลท. ในการดูแลแรงเก็งกำไรเบื้องต้น คือ การประกาศให้หุ้นรสาซื้อขายในบัญชีเงินสด เนื่องจากที่ผ่านมา เข้าเกณฑ์ “เทิร์นโอเวอร์ลีส” ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้สั่งให้หุ้น RASA ติดบัญชี Cash Balance ต้องวางเงินสดเต็มจำนวนก่อนซื้อ ตั้งแต่ 21 เม.ย.-30 พ.ค.57

ขณะที่บริษัทฯ ได้รายงานตลาดว่า จะมีการเพิ่มทุน 4,162.35 หุ้น เพื่อเปิดทางให้กลุ่มสิงห์เข้า Backdoor โดยการแลกหุ้นกับ 2 บริษัทฯ ในกลุ่ม ได้แก่ บริษัทเอส ไบร์ทฟิวเจอร์ และ บริษัทสันติบุรี ก่อนควบกิจการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สิงห์ เอสเตท โดยหุ้นเพิ่มทุนมีราคา 1.87 บาท และกลุ่มสิงห์จะทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ที่ระดับราคาดังกล่าวเช่นกัน

นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยแนะนำการลงทุนในหุ้น RASA โดยนักลงทุนควรระมัดระวังการเข้าเก็งกำไร RASA เพราะให้ส่วนเพิ่ม (premium) กับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจเข้ามาร่วมลงทุน เช่นเดียวกับกรณีของบริษัท ยูนิ เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV บริษัท แผ่นดินทอง จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD และบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ที่มีกลุ่มสิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้น แต่ในที่สุดผลการดำเนินงาน และการประเมินมูลค่าหุ้นไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว และถูกอย่างที่คิด ในที่สุดราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมาก็จะเกิดขาดทุนได้

ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่าธุรกิจที่บริษัทของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ และกลุ่มสิงห์ฯ เป็นผู้นำ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำดื่ม ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ สำหรับโครงการอื่นๆ ที่จะตามมาหลังการควบรวม ยกเว้นที่กล่าวข้างต้นจะให้รายได้ในระยะยาว คือปี 60 ขึ้นไป และมีความเสี่ยงว่าจะเกิดโครงการนี้หรือไม่ เช่น การพัฒนาอาคารสำนักงาน เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ บ้านจัดสรรในระดับราคาสูง รวมทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนอีกมาก ส่วนการให้สิทธิแก่บริษัทในการซื้อสินทรัพย์โรงแรม หรือโครงการสินทรัพย์ของคุณสันติ ภิรมย์ภักดี ก่อน ตามข้อมูลคือ บริษัท บ่อผุดพร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งทำธุรกิจโรงแรมที่จะพัฒนาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น