น.ส.อรลักษณ์ วงศ์มาศา นักวิเคระห์ บล.เคจีไอ คาดทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกระยะสั้นจะแกว่งตัวออกข้างถึงชะลอลง โดยประเมินว่ามีโอกาสหลุดต่ำกว่า 1,285 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และอาจชะลอลงต่อเนื่องไปแนวรับถัดไปที่ 1,275/1,265 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนแนวโน้มราคาทองฟิวเจอร์ ประเมินว่าจะชะลอลงมาที่แนวรับ ในขณะที่ค่าเงินบาทเช้านี้อ่อนค่าลง ทำให้ราคาทองคำในประเทศปรับตัวดีกว่าราคาทองคำโลก (ราคาทองคำเช้านี้คำนวณโดยใช้ราคา Spot Gold ที่ 1,287 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และค่าเงินบาทที่ 32.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะได้ราคาทองคำที่ 19,698 บาท) แนวรับ : 19,650/19,520 บาท แนวต้าน : 19,800/20,000 บาท
พร้อมแนะนำลงทุน เปิด Short ในช่วงทดสอบแนวต้าน เพื่อปิดในช่วงชะลอลงมาที่แนวรับ แต่หากผิดคาดดีดฟื้นขึ้นเหนือ 20,000 อาจพิจารณาปิดสถานะไปก่อน สำหรับคนถือ Short ไว้ก่อนหน้านี้แนะนำให้ปิดสถานะในช่วงชะลอลงมาที่แนวรับ
โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำ คือ ตลาดทองคำ Spot แกว่งชะลอลง จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังจากตัวเลขขาดดุลการค้าเดือน มี.ค.ของญี่ปุ่นออกมาแย่กว่าตลาดคาดการณ์ และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาที่ 0.8%y-y ออกมาดีกว่าคาดการณ์ที่ 0.7%y-y ถือเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์ แต่เป็นลบต่อราคาทองคำ รวมทั้งกองทุน SPDR ลดการถือครองลงต่อเนื่องในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ลดลงไปกว่า 13 ตัน ถือเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ แม้ว่าสถานการณ์ในยูเครนดูจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจากสหรัฐฯ เพิ่มมาตราการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นต่อรัสเซีย
ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาความไม่สงบในยูเครน และคืนวันพุธจะมีตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. โดย Bloomberg consensus คาดไว้ที่ 455,000 ยูนิต เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ 440,000 ยูนิต และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของยุโรป และสำหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทเช้าวันนี้อ่อนค่า ส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศปรับตัวดีกว่าราคาทองคำโลก โดยประเมินว่าในระยะสั้นค่าเงินบาทจะเริ่มกลับมาอ่อนค่าลงสั้นๆ และจำกัด เนื่องจากจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กนง. ซึ่ง KGI คาดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% สอดคล้องกับ Consensus ที่ส่วนใหญ่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม หากผิดคาดประกาศปรับลดลง 0.25% จะเป็น Positive surprise ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ต่อเนื่องไป 32.40-32.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ