จับตา“อิชิตัน” เทรดวันแรกเหนือจองมากน้อยแค่ไหน? นักลงทุนเสียงแตก กลุ่มหนึ่งพร้อมเข้าซื้อสะสม เหตุเชื่อมั่นในศักยภาพกลยุทธ์การตลาด ขณะที่อีกกลุ่มชี้เหลือส่วนต่างทำกำไรน้อย ขอรอฝุ่นหายตลบแล้วเข้าเก็บในราคาจริง หลังประเมินราคาขายสูง ไม่มั่นใจคำแนะนำโบรกฯ ที่ให้ 17-19 บาท แต่ที่แน่ๆ “ภาสกรนที” ได้ถอนทุนคืนจากเงินระดมทุน 3.9 พันล้าน ที่ต้องนำไปใช้หนี้สถาบันการเงิน และกรรมการราว 2.5 พันล้านบาท ด้านวงการชี้ความเสี่ยงสำคัญ ซื้อ ICHI เหมือนซื้อ “ตัน ภาสกรนที”
ช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2557 ที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คงคึกคักไม่น้อย เมื่อ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ICHI) จะเข้าซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก ในราคา IPO ที่ 13 บาทต่อหุ้น มูลค่าพาร์หุ้นละ 1 บาท เป็นเหตุให้หลายต่อหลายคนเฝ้ารอลุ้นเวลาเปิดตลาด และปิดตลาดในวันดังกล่าวว่า หุ้น ICHI จะสามารถยืนเหนือราคาจองของตนเองได้หรือไม่
เกร็ดเล็กน้อยในอดีต สมัย บมจ.โออิชิ (OISHI) ก่อนเปิดตัวเข้าเทรด “ตัน ภาสกรนที”มีการจัดขบวนแถวยาว เฉลิมฉลองการเทรดครั้งแรกอย่างอลังการ ซึ่งหลายฝ่ายก็คาดว่าการเฉลิมฉลองหุ้น ICHI รอบนี้ มาร์เกตติ้งแมนอย่าง “ตัน” คงไม่ทำให้ใครผิดหวังเช่นกัน
เดิมที ICHI เคยมีกำหนดเข้าตลาดหุ้นในช่วงวันที่ 11 เดือน 12 ปี 13 หรือปีก่อนมาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการโปรโมตข่าวสารของ บมจ.อิชิตัน ผ่านสื่อต่างๆ จำนวนมาก ถึงศักยภาพบริษัท และความสามารถในการทำรายได้-กำไร แต่สุดท้ายกลับมาตกม้า....เพราะบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง...ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนการนำ ICHI เข้าตลาดหลักทรัพย์ตัดสินใจเลื่อนการเข้าซื้อขายออกไป จนกลับดำเนินการอีกครั้ง และได้ฤกษ์เทรดในวันที่ 21 เมษายนนี้
การกลับมาสู่ตลาดชาเขียวรอบที่ 2
ตลาดชาเขียวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับ “ตัน ภาสกรนที” ผู้ที่เคยปลุกปั้น OISHI โด่งดังเป็นพลุแตกในตลาดเครื่องดื่มเมืองไทยในอดีต จน “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่ง บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ หรือเบียร์ช้าง อดใจไม่ได้ต้องเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ โดยในช่วงแรกยังมอบหมายให้ “ตัน” ดำเนินการบริหารโออิชิต่อไป แต่พอผ่านมาได้สักระยะ “ตัน” ตัดสินใจจากออกมา และกลับมาทำตลาดที่ตนถนัดอีกครั้งนั่นคือ ชาเขียวพร้อมดื่ม ภายใต้แบรนด์ “อิชิตัน” ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในวันนี้
ช่วงเวลาดังกล่าวมีคำถามจำนวนมากของมวลชนถึงความเหมาะสมในการทำธุรกิจ ว่าเหมาะสมหรือไม่ เมื่อเคยทำชาเขียวยี่ห้อหนึ่งจนโด่งดัง แล้วขายกิจการไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว แต่ต่อมากลับมาสร้างยี่ห้อใหม่เข้ามาขายแข่งขันกับยี่ห้อเดิมของตนเอง แต่ด้วยความเป็นยอดนักการตลาด “ตัน” ผ่านพ้นจุดดังกล่าวออกมาได้ และยังสามารถนำชาเขียวยี่ห้อใหม่ของตน ชิงส่วนแบ่งการตลาดจากยี่ห้อเดิมที่ขายไป ขึ้นมาเป็นเจ้าของส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 แทน
ต้องยอมรับว่า “อิชิตัน” ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสวยหรู ในแรกเริ่มที่กำลังก่อร่างอาณาจักรใหม่ บริษัทต้องประสบปัญหากับภัยพิบัติจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 แต่ความไม่ย่อท้อของผู้บริหารก็ทำให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวมาได้เช่นกัน
ข้อถกเถียง IPO ที่ 13 บาท แพงหรือคุ้มค่า?
กลับมาที่การเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรกของ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) ราคาหุ้นไอพีโอที่ 13 บาทต่อหุ้นสร้างความพอใจให้แก่นักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรายย่อย จากการมีส่วนลดถึง 36% แต่ในทางกลับกันพบว่า ยังมีนักลงทุนบางส่วนไม่พอใจในราคาระดับนี้ เช่น นักลงทุนรายใหญ่ และนักลงทุนประเภท value investor บางกลุ่ม เพราะมองว่ามีช่องว่าง หรือส่วนต่างให้กำไรได้ไม่มากนัก ไม่คุ้มความเสี่ยง เพราะมองกันว่าราคาหุ้นที่จะเข้าซื้อขายไม่น่าจะขยับขึ้นไปมากเท่าใด อีกทั้งแรกเริ่มเดิมที ก่อนที่จะสรุปราคาซื้อขายหุ้น IPO มีหลายฝ่ายประเมินว่า ICHI จะเคาะราคา IPO อยู่ในช่วง 12-10 บาท และให้มูลค่าเหมาะสมแก่หุ้นไม่ถึง 17 บาท ซึ่งสวนทางกับนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งที่ให้มากถึง 17-19 บาท
“ผมมั่นใจว่าหุ้น ICHI จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนจนยืนเหนือราคาจอง ส่วนหนึ่งเชื่อว่าราคาขาย IPO 13 บาท เป็นราคาที่น่าสนใจ โดยราคาดังกล่าวคิดเป็นส่วนลดให้แก่นักลงทุนถึง 36% อีกทั้งได้รับความสนใจจากนักลงทุนมียอดจองหุ้นจนล้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ อิชิตันมีนโยบายจะจ่ายเงินปันผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนทำให้เข้ามาซื้อหุ้นในกระดานเพิ่มเติมเพื่อลงทุนหวังผลตอบแทนในระยะยาว อีกทั้งกลุ่มตนเอง และคุณอิง ภาสกรนที คือ กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมรายใหญ่สุด มีสัดส่วนการถือหุ้น 60.4% ซึ่งตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปริมาณหุ้นที่ต้อง silent ช่วง Silent Period ขั้นต่ำ 55% หุ้น ซึ่งกลุ่มตนเองและผู้บริหารท่านอื่นมีความตั้งใจจะถือหุ้นทั้งหมดในระยะยาว และไม่มีแผนจะลดสัดส่วนการถือหุ้นอย่างแน่นอน” ตัน ภาสกรนที ให้ความเห็น
หุ้นพนักงาน 70 ล้านหุ้น อาจบั่นทอนราคา
ทั้งนี้ หุ้น IPO ของ ICHI จำนวน 300 ล้านหุ้น นั้นคิดเป็น 23.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 1,300 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วจำนวน 1,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน จำนวนหุ้น IPO ที่ระดับ 300 ล้านหุ้น ในราคา 13 บาท/หุ้น คิดเป็นเม็ดเงินในการระดมทุน 3,900 ล้านบาท หลายฝ่ายมองว่าเป็นงานหนัก และอาจทำให้ไม่สามารถเกิดแรงเก็งกำไรในการเทรดวันแรกของ ICHI ได้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากหุ้นที่ผู้บริหารมอบให้พนักงานรวม 70 ล้านหุ้น ด้วยต้นทุนหุ้นละ 1 บาท ที่จะเข้ามาบั่นทอนการปรับขึ้นของราคาในการซื้อขายวันแรก แม้จะมีหุ้นที่ติด silent period 715 ล้านหุ้นหรือ 55% ของทุนชำระแล้วการันตีผ่านไฟลิ่ง หรือหนังสือชี้ชวนเอาไว้ก็ตาม
นักลงทุนเสียงแตก พร้อมซื้อ/รอราคาลง
นอกจากนี้ เมื่อลองเช็คความเคลื่อนไหว หรือความสนใจต่อหุ้น ICHI ผ่านโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กออนไลน์ พบว่า กระแสการตอบรับต่อหุ้น ICHI ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ มีทั้งกลุ่มที่พร้อมจะลงทุนใน ICHI แม้จะพลาดโอกาสในการได้สิทธิจองซื้อหุ้นในราคา IPO จากโบรกเกอร์ รวมทั้งพลาดในการได้สิทธิเข้าแถวต่อคิวหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เพราะเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของกลุ่มผู้บริหาร และกลยุทธ์การตลาดที่ประสบความสำเร็จ จะนำพาให้ราคาหุ้นปรับตัวสะท้อนความสามารถที่แท้จริงของบริษัท โดยมีความหวังที่จะเห็นราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปกว่า 20 บาท/หุ้น
ขณะที่อีกฝ่ายเลือกที่จะไม่เข้าลงทุนในการเข้าซื้อขายวันแรก เพราะมองว่าราคา ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดชาเขียวที่เป็นอยู่ซึ่งมีโอกาสในการเติบโตได้อีกไม่มากแล้ว อีกทั้งเชื่อว่าท้ายที่สุด ICHI จะเป็นเหมือนหุ้น IPO ตัวอื่นๆ หลายตัวที่เมื่อเข้าซื้อขายวันแรกแล้ว จากเดิมที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอยู่เหนือราคาจองหลายเปอร์เซ็นต์ ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคา IPO ที่พุ่งขึ้นมาจากกระแสในช่วงแรกได้ และมองว่านั่นคือ จังหวะในการเข้าซื้อหุ้น ICHI สะสมไว้ในพอร์ตลงทุนจริงๆ มากกว่า
โอกาส ICHI ครองมาร์เกตแชร์สุดโต่งยาก
แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้าม นั่นคือตลาดเครื่องดื่มสมุนไพรประเภทอื่นจากค่าย “อิชิตัน”ที่มีอัตราการเติบโตสูง และถือเป็นอีกไลน์การผลิตที่จะช่วงสร้างรายได้ได้งดงามไม่น้อยหน้าชาเขียว เช่น “เย็น เย็น”ที่ช่วยทำให้อิชิตันมีความโดดเด่นมากกว่าผู้ประกอบการประเภทเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม โดยรวมหลายฝ่ายเชื่อว่า แม้ว่าตลาดชาเขียวอาจไม่ได้เติบโตจากกระแสได้เฉกเช่นเมื่อหลายปีก่อน แต่ ICHI ยังสามารถโตจากการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้อยู่ ทำให้มองว่า ICHI น่าจะยังสามารถเติบโตต่อไปได้อีกสักระยะ เพราะสมัยที่ OISHI เติบโต สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับที่สูงมาก ขณะที่โอกาสที่ ICHI จะสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้ แต่คงไม่ง่ายเหมือนตอน OISHI ล้ม ยูนิฟ ลงได้
หนี้สินจำนวนมากจะถูกโละจากเงินระดมทุน
สำหรับในด้านฐานะการเงินของ ICHI ใน เดือน ธ.ค.56 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยประมาณ 3,900 ล้านบาท ใกล้เคียงจากเม็ดเงินที่บริษัทเรียกระดมทุนจาก IPO ครั้งนี้ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนหนี้สินมีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ 2.0 เท่า ตามข้อกำหนดของสัญญาเงินกู้สถาบันการเงินที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.5 เท่า ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงเกี่ยวกับความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจเพิ่มเติม แต่จากการชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนจากเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ จะทำให้ภาระหนี้สินมีดอกเบี้ยของบริษัทลดน้อยลง ส่งผลให้ความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น
แต่ในด้านหนี้สินรวม ICHI มีอยู่ประมาณ 4,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 348 ล้านบาท หรือ 8.3% เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2555 ที่มีหนี้สินรวม จำนวน 4,223.9 ล้านบาท โดยหนี้สินส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องโดยมียอดค้างชำระ เท่ากับ 2,350 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ปี 2556 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 6,531.8 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนรายได้จากการขายมากถึง 6,484.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 99.3% ของรายได้รวมทั้งหมด โดยส่วนใหญ่มาจากการขายอิชิตัน กรีนที ส่วนปี 2557 นักวิเคราะห์เชื่อว่ากำไรสุทธิปี 57 จะเพิ่มขึ้น 28.43% อยู่ที่ 1,135.06 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของยอดขาย 15.32% ซึ่งได้รับอานิสงส์มาจากการเพิ่มสายการผลิตขวดเพิ่มขึ้น 2 สาย ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตขวดเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านขวดต่อปี ทำให้ ICHI จะสามารถผลิตขวดได้ทั้งหมด 1,000 ล้านขวด/ปี และผลิตกล่องได้ทั้งหมด 200 ล้านกล่อง/ปี
กลยุทธ์การตลาด+“ตันแมน” ...กุญแจผลักดันการเติบโต
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้อิชิตันมีศักยภาพเหนือคู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกันรายอื่น ประเมินได้ว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก กล่าวคือ 1.กลยุทธ์กิจกรรมทางการตลาด แม้จะโดดค่อนขอดถึงการใช้แคมเปญลดราคา หรือแจกรางวัลใหญ่เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า แต่ต้องยอมรับความจริงว่า กลยุทธ์ที่บริษัทนำมาใช้ถือว่าประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม กลับกันก็มีผลต่อสินค้าด้วยเช่นกัน เพราะทำให้ผู้บริโภคบางรายมองว่าการซื้อสินค้าคือการซื้อเพื่อลุ้นชิงโชคเหมือนซื้อลอตเตอรี่เสี่ยงโชค มากกว่าที่จะใส่ใจต่อรสชาติ หรือคุณภาพของสินค้า
2.กิจกรรมการตลาดที่บริษัทนำมาใช้ นอกจากเพื่อกระตุ้นยอดขายแล้ว ยังกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมชมชอบต่อเจ้าของกิจการอย่าง “ตัน ภาสกรนที” ไปด้วย กลายเป็น “ตัน ภาสกรนที” คือส่วนสำคัญของชาเขียวอิชิตัน เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่สำคัญของบริษัท และอาจมีความสำคัญมากกว่าตัวสินค้า จนนำไปสู่ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่ทุกบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ค่ายต่างๆ เห็นตรงกันว่า ในกรณีหาก “ตัน” เกิดเป็นอะไรขึ้นมา หรือสละทิ้งหุ้นที่ตนเองถืออยู่ในมือ จะมีผลต่อราคาหุ้น ICHI มากกว่าปัจจัยลบอื่นๆ จนน่าจะกล่าวได้ว่า การขายหุ้น IPO รอบนี้ไม่ได้ขาย ICHI แต่ขายตัวตนของ “ตัน ภาสกรนที” มากกว่า
แม้ล่าสุด “ตัน”ออกมายืนยันต่อสาธารณชนว่า ตนเอง และครอบครัวจะไม่มีการขายหุ้น ICHI ออกไปหมดเหมือนครั้งที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ OISHI เพื่อแสดงความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ที่ยังกังวลว่าอาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำสอง **อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวจะเพิ่มความน่าเชื่อถือต่อหุ้น ICHI มากน้อยแค่ไหน คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ถ้าคิดในแง่ธุรกิจถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดประการใด**
เม็ดเงินไหลกลับเข้ากระเป๋าภาสกรนที
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การก่อร่างสร้างตัวของ “อิชิตัน” ธุรกิจชาเขียวรอบที่สองของ “ตัน ภาสกรนที” ได้ยืมเงินเข้ามาลงทุนจากกรรมการท่านหนึ่งในบริษัท นั่นคือ “สุนิสา หรืออิง ภาสกรนที” ภรรยาของ “ตัน” โดยเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุน 3,900 ล้านบาทครั้งนี้ เชื่อว่าจะมีการชำระหนี้คืน หรือถอนทุนคืนของตระกูลภาสกรนทีด้วย จากเริ่มได้ยืมเงินไป 2,000 ล้านบาท และจากข้อมูล ณ ปัจจุบันบริษัทมีแผนจะชำระเงินกู้ยืมที่ยืมจากกรรมการ 1,000 ล้านบาท
ลุ้นเทรดวันแรกจะสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ท้ายที่สุด โดยสรุปหลายฝ่ายเชื่อว่าหากภาวะตลาดหุ้นไทยในวันจันทร์ที่ 21 เมษายน ไม่มีปัจจัยลบภายนอกที่โหดร้ายเกินไป การเข้าซื้อขายหุ้น ICHI ของ “ตัน ภาสกรนที” ครั้งนี้น่าจะประสบความสำเร็จ โดยราคาหุ้นปิดตลาดเชื่อกันจะสูงกว่าราคาจอง แต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับผู้ทำตลาด ส่วนจะเหมือนครั้งหุ้น “M” หรือ “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” ที่โด่งดังในช่วงก่อนเทรด แต่เทรดแล้วไม่ดังหวังหรือไม่นั้น เชื่อว่างานนี้ที่ปรึกษาฯทำการบ้านมาเป็นอย่างดีแล้ว
สำหรับกรณีภาษีสรรพสามิต ..... ยังเชื่อกันว่า เป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ยังไม่มีข้อสรุป แม้กรมสรรพสามิตจะมีการเรียกเก็บ นั่นหมายถึงผู้ประกอบการทุกรายต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วยเหมือนกัน ทำให้มองกันว่า มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทไม่มาก