“ธปท.” เผยรักษาการ “รมว.คลัง” เซ็นตั้งกรรมการ ธปท.ใหม่ แทนคนเก่าครบวาระ “พิชัย-อารีพงศ์-อนุสรณ์” ผงาด ด้านวงในกังขากรรมการที่เป็นคนนอกล้วนเป็นคนที่เคยทำงานอย่างใกล้ชิด หรือมีมุมมองเชิงเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับรัฐบาลชุดปัจจุบันแทบทั้งสิ้น พร้อมแนะจับตาบอร์ด กนง.-กนส. ครบวาระปลายปีนี้
นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.2557 ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คนใหม่ทั้ง 4 ท่าน เพื่อมาทำหน้าที่แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านเดิมที่ครบวาระไป
สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ท่าน ประกอบด้วย นายอัชพร จารุจินดา ซึ่งนายอัชพร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนเก่าที่ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ใหม่อีกหนึ่งวาระ โดยนายอัชพร เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แทนนายอำพน กิตติอำพน ที่ได้รับเลือกขึ้นเป็นประธานกรรมการ ธปท. เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.2556 ซึ่งการเข้ามารับตำแหน่งของนายอัชพร ในครั้งนั้น เป็นการเข้ารับตำแหน่งตามวาระที่เหลือของนายอำพน ที่ครบวาระเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออีก 3 ท่าน ประกอบด้วย นายพิชัย ชุณหวชิร และนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ซึ่งมาแทนนายศิริ การเจริญดี และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออีก 1 ท่าน คือ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ซึ่งมาแทนนายนนทพล นิ่มสมบุญ ที่ครบวาระเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น นายอนุสรณ์ จึงเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาดำรงตำแหน่งแทนนายนนทพล ตามวาระที่ยังเหลืออยู่
รายงานข่าวระบุว่า การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้ ถือว่าล่าช้ากว่ากำหนดการออกไปมาก เนื่องจากติดปัญหาที่ นายกิตติรัตน์ ที่รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่กล้าลงนามแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ท่าน เพราะเกรงว่าจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่า การลงนามดังกล่าวสามารถทำได้ จึงได้ตัดสินใจลงนามไปเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
เรื่องนี้ นายชาญชัย กล่าวว่า คณะกรรมการคัดสรรได้ทำการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การเข้าเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพียงแต่ในครั้งนั้น รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่กล้าลงนาม จนกระทั่งเมื่อต้นเดือน เม.ย.ก่อนที่ท่านจะเดินทางไปต่างประเทศ ท่านได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว
“สาเหตุที่เรื่องนี้คาอยู่นาน เพราะทางกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้ลงนาม ซึ่งจริงๆ ตามกฎหมายทำได้ แม้จะเป็นรักษาการรัฐมนตรีคลังก็สามารถลงนามได้ แต่เข้าใจว่าที่ท่านยังไม่ลงนามอาจเพราะต้องการตรวจสอบให้เกิดความแน่ใจก่อน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ท่านเองก็ได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว ทำให้บอร์ดใหม่ทั้งหมดเริ่มนับวาระตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการลงนาม”
นายชาญชัย ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากคณะกรรมการ ธปท.แล้ว ในปลายปีนี้จะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการชุดเล็กอีก 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่ครบวาระ ดังนั้น ในปลายปีนี้จึงต้องมีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อมาทำหน้าที่แทนกรรมการท่านเดิมที่หมดวาระ
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า โดยธรรมเนียมปฏิบัติการเสนอชื่อกรรมการบอร์ดธปท.นั้น จะถูกเสนอมาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ นายกิตติรัตน์ ซึ่งเป็นผู้เสนอรายชื่อดังกล่าวทั้งหมด 3 ท่าน
รายงานระบุเพิ่มเติมว่า หลังการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ธปท.ในครั้งนี้ ทำให้คณะกรรมการชุดใหม่ ประกอบด้วย นายอำพน กิตติอำพน ในฐานะประธานกรรมการ ธปท. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะรองประธานกรรมการ ธปท. นายเกริก วณิกกุล ในฐานะกรรมการ ธปท. นางทองอุไร ลิ้มปิติ ในฐานกรรมการ ธปท. นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ในฐานะกรรมการ ธปท.
นอกจากนี้ มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในฐานะกรรมการ ธปท. นายคณิศ แสงสุพรรณ ในฐานะกรรมการ ธปท. และนายสมชัย สัจจพงษ์ ในฐานะกรรมการ ธปท. นายอัชพร จารุจินดา ในฐานะกรรมการ ธปท. นายพิชัย ชุณหวชิร ในฐานะกรรมการ ธปท. นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ในฐานะกรรมการ ธปท. และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะกรรมการ ธปท.
ทั้งนี้ จะเห็นว่าจากรายชื่อกรรมการใน ธปท. ทั้ง 12 คน นอกจากคนใน ธปท. ซึ่งได้แก่ นายประสาร นายเกริก นางทองอุไร และนางผ่องเพ็ญ แล้ว กรรมการที่เป็นคนนอก ล้วนเป็นกรรมการที่เคยทำงานอย่างใกล้ชิด หรือมีมุมมองเชิงเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับรัฐบาลชุดปัจจุบันแทบทั้งสิ้น
ส่วนประสบการณ์การทำงาน นายพิชัย นั้น ในปี 2544-2556 ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ส่วนปี 2553-2555 ประธานกรรมการ บริษัทไทยออยล์ ในปี 2551-2555 เป็นประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด ส่วนปี 2552-2554 เป็นกรรมการ บริษัท ปตท. และกรรมการ บริษัท ไออาร์พีซี โดยปี 2548-2554 เป็นกรรมการ บริษัท การบินไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการบริษัทไทยออยล์ เพาเวอร์ ในปี 2543-2554 ขณะที่ปี 2541-2554 เป็นกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม และในปี 2551-2552 ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. ส่วนปี 2550-2552 เป็นกรรมการ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (ประเทศไทย) โดยในปี 2548-2552 เป็นกรรมการ บริษัท ปตท. เคมิคอล ปี 2543-2552 เป็นประธานกรรมการ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย และในปี 2539-2552 เป็นกรรมการ บริษัท ทิพยประกันภัย อีกทั้งยังเป็นกรรมการ และกรรมการตรวจสอบ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในปี 2546-2551 และปี 2544-2550 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร บริษัท ปตท.
ขณะเดียวกัน ยังดำรงตำแหน่งต่างๆ ในกิจการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน โดยเป็นประธานกรรมการบริษัท ท็อป มารีไทม์ เซอร์วิส จำกัด ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานอนุกรรมการบริหารการลงทุน กองทุนประกันสังคม และนายกสมาคมมวยสากลแห่งประเทศไทย
ส่วนนายสมชัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งก่อนหน้านี้ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง โดยในปี 2553 ดำรตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพสามิต ส่วนปี 2550 เป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ปี 2546 รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ในปี 2544 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ กรมบัญชีกลาง
ด้านนายอนุสรณ์ ประสบการณ์การทำงาน ดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ประธานกรรมการตรวจสอบและกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กรรมการและประธานกรรมการจัดวางระบบควบคุมภายในบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นคณะกรรมการ สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี