ธปท.คาดการณ์ “จีดีพี” ปีนี้อาจมีโอกาสโตต่ำกว่า 2.7% ลุ้นครึ่งปีหลังได้รัฐบาลใหม่เดินเครื่อง ศก. เต็มสูบ ห่วงความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้น เบิกจ่ายงบปี 58 อาจล่าช้าเกินกว่า 3 เดือน ชี้เงินเฟ้อเดือน มี.ค. ที่เร่งตัวสูงขึ้นเกิดจากราคาก๊าซหุงต้ม ยันไม่ถึงขั้นน่ากังวล เชื่อทั้งปีเงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบ 2.5%
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557 โดยประเมินว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) มีโอกาสที่จะเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 2.7 หากยังไม่มีรัฐบาลใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และภาคธุรกิจไม่ฟื้นตัวในไตรมาส 3/2557 ตามที่คาด และกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ล่าช้านานกว่า 1 ไตรมาส ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะปรับลงอีก แต่จนถึงขณะนี้ ธปท. ยังคงจีดีพีปีนี้ไว้ที่เติบโตร้อยละ 2.7 และยังต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมือง และปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบอย่างใกล้ชิด
ส่วนปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจขณะนี้คือ ภาคการส่งออกที่มีสัญญาณที่ดีจากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีการส่งออกของโลก และสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เชื่อว่าภาคต่างประเทศที่เข้มแข็งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศได้บ้างแต่ไม่เต็มที่ เนื่องจากยังมีปัจจัยการเมืองกดดันอยู่
ส่วนราคาสินค้าที่แพงขึ้นหลังจากอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2557 ขยับขึ้นจากร้อยละ 1.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.11 นั้น ธปท. ไม่ได้มีความกังวลเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นของราคาก๊าซแอลพีจี ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปปรับสูงขึ้น แต่ยังเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เพราะก่อนหน้านี้ ราคาอาหารได้ปรับขึ้นไปบ้างแล้ว และความต้องการของผู้บริโภคชะลอลงตามสภาวะเศรษฐกิจ จึงไม่ถือเป็นการกัดกร่อนอำนาจซื้อของผู้บริโภค มั่นใจว่าเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่อยู่ที่ร้อยละ 0.5-3.0
ส่วนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80.1 ในไตรมาส 3 เป็นร้อยละ 82.3 ในไตรมาส 4 ต่อจีดีพี ก็เป็นไปตามที่ ธปท. คาดไว้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงรายได้ของประชาชนก็น้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดการกู้ยืม จึงต้องดูพฤติกรรมของผู้บริโภคประกอบด้วย โดยหากกู้เพื่อลงทุนการค้า และการศึกษาบุตรก็เป็นการกระทำที่ยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนี้มีอัตราการเพิ่มน้อยลงจากเติบโตร้อยละ 16 ในไตรมาส 1/2556 เป็นร้อยละ 11 ในไตรมาส 4/2556 แต่เนื่องจากรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า โดยรายได้ประชาชาติที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ในไตรมาส 1/2556 เหลือโตร้อยละ 1.8 ในไตรมาส 4/2556 ทำให้ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วนการก่อหนี้ของสถาบันการเงินและธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินยังทรงตัว