ซีบีอาร์อี เผยผลสำรวจวิจัยตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ปี 56 พบอัตราการเข้าพักลดลง 1% เหตุการเข้าพักอพาร์ตเมนต์ใกล้พื้นที่ชุมนุมหดตัว ระบุญี่ปุ่นยังแชมป์ตลาดเช่าระยะยาว ชี้ซัปพลายใหม่เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ยังต่ำ การแข่งขันไม่สูง ขณะคอนโดฯ ปล่อยเช่า-อพาร์ตเมนต์ โรงแรมใจกลางเมือง ซัปพลายใหม่ระหว่างก่อสร้างเพียบ คาดอนาคตแข่งดุ
รายงานข่าวจาก แผนกวิจัยตลาด บริษัท ซีบีริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด เดเผยว่า จากการสำรวจของแผนกวิจัยซีบีอาร์อี พบว่า อัตราการเข้าพักในเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ใน กทม.โดยเฉลี่ยตลอดปี 56 อยู่ที่ 81% ลดลงจากปี 55 เพียง 1% เท่านั้น ซึ่งอาจจะเกิดจากเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ที่มีที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ชุมนุมมีอัตราการเข้าพักของลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความต้องการเช่าในตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ว่ายังคงมีอยู่แม้จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองก็ตาม
“ปกติแล้ว เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ใน กทม. เน้นจับลูกค้า 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เช่าระยะยาวซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งตลาดดังกล่าวต้องแข่งขันกับอพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียมให้เช่า ลูกค้ากลุ่มที่ 2คือ กลุ่มผู้เช่าระยะสั้น หรือนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ซึ่งเป็นตลาดที่ต้องแข่งขันกับโรงแรม สำหรับชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในกรุงเทพฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 12% ต่อปี โดยชาวญี่ปุ่นยังคงรั้งอันดับที่ 1 ในการเป็นกลุ่มผู้เช่าเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ระยะยาวที่มีสัดส่วนมากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาอัตราค่าเช่าเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ไม่ได้มีการปรับขึ้น เนื่องจากมีการแข่งขันจากคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอนจำนวนมากที่นำมาปล่อยเช่าในระยะยาว ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ระดับเกรดเอ โดยเฉลี่ยในกรุงเทพฯ ณ สิ้นไตรมาส 4 มีค่าเช่าสูงกว่า 1,000 บาท ต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ต่อเดือน โดยย่านสุขุมวิท เป็นทำเลที่มีค่าเช่าเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ระดับเกรดเอสูงสุด คือ เกือบ 1,200 บาทต่อ ตร.ม.ต่อเดือน
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างน้อยมาก ส่งผลทำให้ปริมาณเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ใหม่ที่จะเพิ่มเข้าสู่ตลาดในอนาคตมีจำนวนจำกัด ในขณะที่มีโรงแรมจำนวนกว่า 5,000 ห้อง ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในกรุงเทพฯ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดเช่าที่พักอาศัยระยะสั้นมีการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
“ขณะที่มีคอนโดมิเนียมในย่านใจกลาง กทม. ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 20,000 ยูนิต ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยกว่า 70% จะเป็นคอนโดฯ ขนาด 1 ห้องนอน และสตูดิโอ โดยคอนโดฯ จำนวนมากถูกซื้อจากนักลงทุนที่ต้องการนำมาปล่อยเช่า ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดเช่าที่พักอาศัยระยะยาวสำหรับห้องสตูดิโอ และ 1 ห้องนอน มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น”
สำหรับเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ถือว่าส่งผลกระทบต่อตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์โดยรวมในวงจำกัด โดยมีเพียงเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ชุมนุม และมีผู้เช่าระยะสั้นเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ประสบกับจำนวนลูกค้าที่ลดลง ในขณะที่จำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ยังคงมีจำนวนเท่าเดิม จึงทำให้ตลาดผู้เช่าระยะยาวโดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 56 อัตราการเข้าพักในเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โดยเฉลี่ยทั้งตลาดอยู่ที่ระดับ 80% ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ความต้องการเช่าเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในทำเลสำคัญ ได้แก่ ย่านสุขุมวิท ลุมพินี และสาทร ซึ่งทั้งสามทำเลเป็นย่านที่ได้รับความนิยมจากผู้เช่าชาวต่างชาติที่ทำงานในกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าโอกาสในการพัฒนาโครงการประเภทเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในพื้นที่ที่นอกเหนือไปจากทำเลชั้นดีดังกล่าวจะมีจำกัด และอัตราค่าเช่าก็ปรับลดลงเป็นอย่างมากในทำเลเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการแข่งขันจากกลุ่มโรงแรม และคอนโดมิเนียมให้เช่า แต่การมีเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ใหม่จำนวนจำกัดทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าของเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์อาจจะสามารถปรับราคาค่าเช่าเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต