xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ แจงกรณีตู้ ATM โดนแฮกฯ เรื่องเก่าแก้ไขแล้ว ระบุแอปฯ ปลอมยังไม่พบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กสิกรไทย” ชี้แจงประเด็นบนสื่อออนไลน์เรื่องตู้เอทีเอ็ม ระบุเป็นกรณีที่เกิดมาตั้งแต่ปลายปีก่อน ดำเนินการแก้ไข ป้องกันเรียบร้อย ยันใช้ได้ปลอดภัยทุกตู้ ส่วนแอปพลิเคชันธนาคารฯ ปลอมยังไม่พบ และมีทีมงานเฝ้าระวังอยู่แล้ว

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK)เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อความส่งต่ออย่างแพร่หลายบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทย ที่ระบุว่า “งดใช้ตู้เอทีเอ็มกสิกรทุกตู้ ที่ไม่มีไฟกะพริบตรงที่เสียบบัตร โดนแฮกข้อมูลไปที่ประเทศยูเครน แจ้งความที่ สน.ลุมพินี 20 รายแล้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุสวนลุมยืนยันว่า จริง **ย้ำ** ใช้ได้เฉพาะตู้ที่มีไฟกะพริบเท่านั้น”

ธนาคารฯ ขอชี้แจงว่า 1) การแฮกข้อมูลบัตรกรณีที่กล่าวอ้างในข้อความดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วง ต.ค.-พ.ย.2556 และไม่ใช่เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทย โดยมีกลุ่มคนร้ายได้ติดตั้งเครื่องคัดลอกข้อมูล (Skimmer) ในเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งบริเวณถนนวิทยุ ส่งผลให้ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยจำนวนหนึ่งที่ไปทำธุรกรรมเครื่องเอทีเอ็มต่างธนาคารเครื่องดังกล่าวได้รับผลกระทบ และเกิดความเข้าใจผิดว่าสาเหตุมาจากตู้เอทีเอ็มกสิกรไทย แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ ได้แก้ปัญหาให้แก่ลูกค้าทุกรายเรียบร้อยแล้ว

2) ธนาคารขอยืนยันว่า ปัจจุบันตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการคัดลอกข้อมูลบัตรแล้วทุกตู้ ส่วนไฟกะพริบที่กล่าวถึงในข้อความดังกล่าว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับระบบอุปกรณ์ป้องกันการคัดลอกข้อมูลบัตรที่ติดตั้งบนเครื่องเอทีเอ็มแต่อย่างใด เป็นสัญลักษณ์เพียงเพื่อบอกตำแหน่งในการใส่บัตรให้ผู้ใช้งานทราบ อีกทั้งเครื่องเอทีเอ็มบางรุ่นจะไม่มีไฟกะพริบบอกตำแหน่งช่องใส่บัตรดังกล่าว ซึ่งไม่ถือเป็นความผิดปกติแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยยืนยันว่า ลูกค้าสามารถใช้บริการเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารฯ ได้ตามปกติอย่างปลอดภัย และทุกธนาคารให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมาตลอด สำหรับกรณีที่เกิดความเสียหายทางการเงินในลักษณะดังกล่าว ธนาคารเจ้าของบัตรจะเป็นผู้รับผิดชอบให้ทั้งหมด

นอกจากนี้ ล่าสุด ตามที่มีกระแสข่าวเรื่องแอปพลิเคชันปลอมในช่วงนี้นั้น ขอแจ้งว่า ยังไม่พบแอปพลิเคชันปลอมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารกสิกรไทย และที่ผ่านมา ธนาคารฯ มีทีมงานที่คอยตรวจหา และดำเนินการกำจัดแอปพลิเคชันปลอมเหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังมาโดยตลอดอยู่แล้วเช่นกัน นอกจากนี้ ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ลูกค้าผู้ใช้งานว่า ข้อสังเกตแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับธนาคารกสิกรไทย คือ ชื่อของผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน (Developer) จะต้องปรากฏเป็นชื่อธนาคาร คือ KASIKORNBANK PCL เท่านั้น จึงจะเป็นแอปพลิเคชันที่ถูกต้องจากธนาคารฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น