xs
xsm
sm
md
lg

กระเป๋าสตางค์หาย...เรื่องน้อยนิดมหาศาล

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงจะผ่านประสบการณ์ “ของหาย” ทั้งหายเพราะความประมาทเลินเล่อ หายเพราะสิ่งของเคลื่อนที่ หรือแม้กระทั่งหายเพราะถูกคนอื่นหยิบฉวยเอาไป ที่ผ่านมาในคลื่นวิทยุข่าวจราจรมักจะมีรายงานแจ้งสิ่งของหายไปอยู่บ่อยๆ ทั้ง จส.100 หรือ สว.พ.91 ซึ่งหากบังเอิญว่าเมื่อสิ่งของตกอยู่ในมือจิตอาสาก็มักจะได้คืน แต่โดยส่วนมากเวลาของหายคนเค้าก็จะคิดไว้ก่อนว่า คงไม่ได้คืนแล้วล่ะ

ตลอดชีวิตของผมที่ผ่านมาผมทำของหายน้อยมาก แต่หายทีก็แทบจะกุมขมับทีเพราะเป็นของสำคัญ อย่างเมื่อ 8-9 ปีก่อน ผมทำงานเป็นคนจัดหน้าหนังสือ ก็เคยทำเอสดีการ์ดกล้องถ่ายรูปซึ่งมีภาพถ่ายสำคัญหาย แล้วเมื่อมันเป็นของชิ้นเล็กก็หายแล้วหายเลย หรืออย่างสมัยนั้นผมเก็บเงินซื้อมือถือโนเกีย 6510 ซึ่งยุคนั้นราคาหลักหมื่น ผมถูกคนร้ายล้วงกระเป๋าไป นับแต่นั้นเป็นต้นมาผมมักจะระแวงทรัพย์สินติดตัวมาก เวลาที่จับอะไรไม่เจอใจผมก็ลงไปอยู่ตาตุ่มทันที

หลังเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ประสบการณ์ของหายหวนกลับคืนมาอีกครั้ง 2 มกราคม ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรกของปีนี้ ผมนั่งแท็กซี่จากบ้านมาทำงานเพราะเลยเวลาเข้างานไปมากแล้ว ช่วงนั้นสลึมสลือตลอดทางเพราะแม้จะหยุดยาว แต่ก็เหมือนไม่ได้หยุด ด้วยเหตุผลส่วนตัว เมื่อมาถึงหน้าออฟฟิศ มีสายเข้ามาพอดี ผมจึงคุยโทรศัพท์ ควักกระเป๋าสตางค์หยิบแบงก์พันส่งให้โชเฟอร์ แล้วผมวางกระเป๋าสตางค์ไว้บนตัก เมื่อผมรับเงินทอนแล้วผมไม่ได้หยิบกระเป๋าสตางค์ไปด้วย

มารู้ตัวอีกทีตอนที่ผมเดินเข้าไปซื้อกาแฟและอาหารว่างที่เซเว่นอีเลฟเว่น ผมเอามือแตะที่กระเป๋ากางเกง ก็ไม่พบกระเป๋าสตางค์แล้ว ผมเดินตามหาจุดที่ผมลงรถแท็กซี่ก็ไม่พบ แม้จะโชคดีที่ผมมีเงินติดตัวเหลืออยู่ 7-8 ร้อยบาท แต่ผมก็เสียดายบัตรหลายใบ ทั้งบัตรประชาชน บัตรประกันสังคม บัตรประจำตัวนักศึกษา บัตรเอทีเอ็ม บัตรเงินสด บัตรสมาชิกห้างสรรพสินค้า ซิมการ์ดมือถือ ผมสันนิษฐานว่ากระเป๋าสตางค์วางไว้บนตักแล้วลืมหยิบหรือใส่กระเป๋าลงมาด้วย

ผมพยายามตั้งสติ ก่อนที่จะแจ้ง จส.100 และ สว.พ.91 ทางทวิตเตอร์ แจ้งอายัดบัตรกับทางธนาคารทีละแบงก์ ช่วงพักเบรกก็ไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ชนะสงคราม ส่วนเงินที่ติดอยู่ในบัญชีผมใช้วิธีเติมเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิงเข้าบัญชีเอ็มเปย์ (ของเอไอเอส) ให้หมด แล้วค่อยใช้รหัสจากเอสเอ็มเอสที่ได้รับถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเหมือนกับโอนเงินต่างธนาคาร ถือว่าสะดวกมาก

แม้คุณผู้อ่านอาจจะท้วงว่า บัตรหายไม่จำเป็นต้องแจ้งความก็ได้ แต่เอกสารสำคัญ อย่างการทำบัตรประจำตัวนักศึกษาใบใหม่ จำเป็นต้องมีใบแจ้งความ ฉะนั้นจึงคิดว่ามาถูกทางแล้ว ส่วนบัตรประชาชนนั้นเนื่องจากที่สำนักงานเขตให้ทำได้เฉพาะกรณีบัตรหมดอายุ จึงต้องไปทำที่สมุทรสาครแถวบ้าน ซึ่งปรากฏว่ามาติดต่อตอนสาย ถ่ายภาพบ่ายสอง ได้บัตรบ่ายสามโมงเศษ แถมยังต้องผจญกับแรงงานต่างด้าวที่เข้าคิวต่ออายุใบอนุญาตทำงานนับพันคน

ส่วนบัตรเอทีเอ็ม หลังได้บัตรประจำตัวประชาชนด้วยความทุลักทุเล ก็ไล่เดินเข้าธนาคารทีละแห่ง แบงก์ที่เป็นบัญชีเงินเดือนมาวันนี้กลับมีแต่บัตรเดบิตรุ่นใหม่ ค่าธรรมเนียมแพงกว่าเดิม 50 บาท นึกเสียดายบัตรเดบิตที่เคยทำตอนที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ อีกแบงก์หนึ่งมีบัตรรุ่นที่ใช้อยู่ ก็ต้องเสียค่าออกบัตรต่างสาขาอีก 30 บาท ทั้งที่ธนาคารอื่นไม่คิดค่าใช้จ่าย ที่น่าเสียดายคือ มหาวิทยาลัยเปลี่ยนธนาคารที่ออกบัตรนักศึกษาแล้ว บังคับให้ปิดบัญชีอย่างเดียว

ที่น่าเสียดายมากที่สุดคือบัตรเงินสด เนื่องจากบริษัทผู้ออกบัตรระบุชัดเจนว่าบัตรนี้เปรียบเสมือนเงินสด ไม่สามารถทำการอายัดหรือชดเชยมูลค่าเงินคงเหลือและจำนวนแต้มสะสมในบัตรได้ แต่ก่อนหน้านี้ผมเอาแต้มสะสมไปแลกของรางวัลแล้ว เหลือไม่กี่พันแต้ม ส่วนบัตรแรบบิทไว้ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส โชคดีที่ผมใช้แบบบัตรเดบิต ทางบีทีเอสโทรศัพท์มาแจ้งว่าต้องการโอนเงินในบัตรไหม แต่ยอดเงินในบัตรเหลือไม่ถึง 50 บาทซึ่งเป็นค่าธรรมเนียม เลยตอบปฏิเสธไป

วันต่อมาที่บ้านโทรศัพท์มาบอกว่า ได้รับซองจดหมาย ข้างในมีกระเป๋าสตางค์ บัตรต่างๆ ยังอยู่ครบ พร้อมจดหมายน้อย หลังกลับถึงบ้านก็หยิบมาอ่าน ระบุหมายเลขรถแท็กซี่ ชื่อโชเฟอร์ ข้อความว่า “ถ้าได้รับกระเป๋าแล้ว ช่วยโทรมาบอกด้วยนะครับ พอดีเมื่อวันที่ 2 ไปส่งแล้วกลับไปหาไม่เจอเลยส่งมาให้ทางไปรษณีย์ เงิน 120 บาทเดี๋ยวผมจะเอาไปคืนให้ไม่กล้าส่งมาทางพัสดุ” พร้อมระบุเบอร์โทรศัพท์ไว้เรียบร้อย ผมโทรศัพท์ไปขอบคุณเขา แล้วยกเงิน 120 บาทนั้นให้

แม้ผมจะเสียดายที่ต้องเสียเงินค่าบัตรเอทีเอ็มจากการอายัดทั้งหมด คิดดูแล้วเท่ากับราคาบุฟเฟ่ต์โรงแรมได้หนึ่งมื้อ ซึ่งบัตรใบเดิมมันคงกลับมาใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเครื่องเอทีเอ็มจะกินบัตร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมได้รู้ว่า สังคมนี้ยังมีคนที่มีน้ำใจอยู่ แทนที่ความคิดเดิมๆ ซึ่งเรานึกกันไปว่า เดี๋ยวนี้ของหายไม่ได้คืนหรอก ข้อคิดอย่างหนึ่งที่ได้ก็คือ เราควรจะเขียนชื่อและเบอร์โทรใส่ไว้ เหมือนกับเวลาเขียนชื่อและเบอร์โทรศัพท์ติดแท็กกระเป๋าเดินทาง

ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งที่อยากแนะนำก็คือ เราไม่ควรพกเงินสดติดตัวคราวละมากๆ ผมเป็นคนขี้ระแวงในเรื่องการพกเงินสดจำนวนมาก เพราะกลัวหายหรือถูกจี้ปล้น และโดยนิสัยที่บ้านให้เงินค่ารถไปทำงานราย 3 วัน ผมก็จะนำไปใส่บัญชีแล้วทยอยกดทีละร้อย-สองร้อยจนหมด ข้อดีของการมีบัตรเอทีเอ็มคือลดการพกเงินสด และหากสามารถนำเข้าบัญชีที่ไม่ผูกกับบัตร (โดยการโอนระหว่างบัญชีตนเองผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง) เงินจะถูกฝากไว้ในที่ปลอดภัยระดับหนึ่ง

ที่น่าสนใจคือ เดี๋ยวนี้เงินมักเปลี่ยนผ่านในหลายรูปแบบ จากเงินสดแปลงเป็นเงินในบัญชีธนาคารแล้ว มาวันนี้เงินอิเล็กทรอนิกส์ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โทรศัพท์มือถือเดี๋ยวนี้กลายเป็นบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปแล้ว และอานิสงส์จากกระเป๋าสตางค์หาย เอทีเอ็มหาย เราสามารถใช้อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งที่สมัครไว้แล้วเติมเงินลงบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นจึงค่อยถอนเงินสดโดยไม่ใช้บัตรเอทีเอ็ม ซึ่งบริการนี้มีมานานพอสมควร

อาจมีคนสงสัยว่า หลักการทำงานของมันเป็นอย่างไร อธิบายสั้นๆ ก็คือ เดี๋ยวนี้ค่ายมือถืออย่างน้อยสองเจ้าใหญ่ๆ ให้บริการบัญชีอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือเป็นเลขที่บัญชี โดยที่เราต้องเติมเงินเข้าบัญชีอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้งาน ทั้งชำระค่าบริการรายเดือน เติมเงิน ชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าบัตรเครดิต สินเชื่อต่างๆ ฯลฯ ซึ่งบัญชีนี้สามารถถอนมูลค่าออกมาเป็นเงินสดได้ ผมก็ใช้วิธีนี้โยกเงินจากบัญชีธนาคารมาใส่แล้วถอน เมื่อบัตรเอทีเอ็มผมหาย

ทุกวันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย พยายามส่งเสริมการใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสด เพราะปัจจุบันมีต้นทุนในการจัดการธนบัตรมากมาย ตั้งแต่การพิมพ์ธนบัตร การขนส่ง การกระจายธนบัตรส่งไปยังธนาคารพาณิชย์ พอใช้ไปสักพักธนบัตรเก่า ชำรุด ธนาคารพาณิชย์ก็นำไปส่งศูนย์จัดการธนบัตร ธปท. เพื่อทำลายอีกครั้ง เมื่อกระบวนการทุกอย่างเต็มไปด้วยต้นทุน จึงหันมาส่งเสริมการใช้จ่ายด้วยระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน

รายละเอียดเรื่องนี้ แนะนำให้อ่านแฟนเพจ “ศคง.1213” ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีหัวข้อ e-payment ซึ่งจะแนะนำทั้งการเดินทางของธนบัตรว่ามาจากไหน เงินอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร และใช้อย่างไรให้ปลอดภัย โดยสรุปสั้นๆ ก็คือ ควรศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น ขั้นตอนหรือวิธีในการใช้บริการ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ และการรักษาความปลอดภัยของระบบอีกด้วย

สุดท้ายนี้อยากจะฝากกับคุณผู้อ่านว่า ประสาทสัมผัสทำอะไรทั้งสองอย่างไม่ได้ ถึงได้แต่ก็บกพร่อง อย่างกระเป๋าสตางค์หายเที่ยวนี้ส่วนหนึ่งคือใจและสมองไปอยู่กับการโทรศัพท์มือถือมากกว่าที่จะควักเงินในกระเป๋าสตางค์จ่ายให้คนขับแท็กซี่ จุดบกพร่องก็คือผมวางกระเป๋าสตางค์ไว้ที่ตักแล้วลืมหยิบใส่กระเป๋ากางเกง ต่อไปนี้ผมคงระแวงมากกว่าเดิม เวลาลงรถคงต้องคอยเอามือแตะกระเป๋ากางเกงให้แน่ใจว่ากระเป๋าสตางค์หรือโทรศัพท์มือถือยังอยู่

ใช้ชีวิตอย่างรอบคอบกันนะครับ...
กำลังโหลดความคิดเห็น