เปิดรายงานประชุมบอร์ด กนง. เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ห่วงการเมืองยืดเยื้อกระทบภาคการบริโภค และภาคท่องเที่ยว ภาคครัวเรือนมีการสะสมความเปราะบาง จึงต้องติดตามผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ที่เริ่มด้อยลง ธปท. แจงหั่นเป้าจีดีพีลงเหลือ 2.7% เนื่องจากมองว่า อุปสงค์ภายในประเทศจะยังอ่อนแอในครึ่งแรกของปีนี้ พร้อมคาดส่งออกฟื้นตัวตาม ศก.โลก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) กนง. ได้ประเมินว่า หากสถานการณ์การเมืองยังคงยืดเยื้อจะส่งผลลบเพิ่มเติมต่อการบริโภคภาคเอกชน จากความเชื่อมั่นที่เปราะบางมากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังเลื่อนออกไป เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และการเมือง ส่วนการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐยังมีความไม่แน่นอนเช่นกัน
ทั้งนี้ กนง. ยังได้คาดการณ์ด้วยว่า ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากความยืดเยื้อของปัจจัยการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียที่มีความอ่อนไหวสูง ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าๆ ตามเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ปรับดีขึ้น
นอกจากนี้ ในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ดังกล่าว คณะกรรมการมีมติด้วยเสียง 4 ต่อ 3 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ 2.00% ตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ เพื่อช่วยพยุงความเชื่อมั่น และกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ธปท.ได้ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2557 ลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่คาดโตเฉลี่ยที่ 3% เมื่อเดือน ม.ค.หลังมองว่า อุปสงค์ในประเทศจะยังอ่อนแอในครึ่งแรกของปีนี้ แต่ทาง ธปท. คาดหวังว่า การฟื้นตัวของการส่งออก และการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังได้
โดยรายงานการประชุมดังกล่าว ยังระบุว่า คณะกรรมการ กนง. เห็นว่าภาคธุรกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ มีการปรับตัว และยังสามารถรองรับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง สะท้อนจากฐานะทางการเงินที่โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี
อย่างไรก็ดี ภาคครัวเรือนมีการสะสมความเปราะบางในช่วงก่อนหน้า จึงต้องติดตามผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ที่เริ่มด้อยลงบ้าง ซึ่งอาจมีผลต่อการบริโภคของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป
สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และต้นทุนการกู้ยืมที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการด่าเนินธุรกิจ ขณะที่ภาคการคลังยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านรายได้ และการใช้จ่าย