“ธปท.” เตือนประชาชนห้ามใช้ “เงินบิทคอยน์” ซื้อขายแลกเปลี่ยน เพราะไม่ถือเป็นเงินที่ชาระหนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่มีมูลค่าในตัวเอง มูลค่าของหน่วยข้อมูลดังกล่าวแปรผันไปตามความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขาย หน่วยข้อมูล มูลค่าจึงเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าได้เมื่อไม่มีผู้ใดต้องการแล้ว พร้อมยกตัวอย่าง ตลาดกลางแลกเปลี่ยน Bitcoin ขนาดใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือน ก.พ.57 ปิดตัวลง โดยอ้างสาเหตุจากการถูกลักลอบโจรกรรมหน่วยข้อมูล ทำให้ต้องยื่นล้มละลายในที่สุด
ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ด้วยปัจจุบันมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า และบริการโดยเฉพาะการซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งมีการโอนให้กันได้ โดยมีชื่อเรียกกันว่า Bitcoin รวมถึงหน่วยข้อมูลที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น Litecoin, Peercoin, Namecoin เป็นต้น ธปท.จึงขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ดังนี้
1.Bitcoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ลักษณะใกล้เคียงกัน เกิดจากกลไกทางคอมพิวเตอร์ที่ถูกกำหนดไว้โดยคนกลุ่มหนึ่งที่มุ่งหวังจะใช้หน่วยข้อมูลดังกล่าวเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน โดยหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากกลไกดังกล่าวจะถูกจัดเก็บเอาไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ แล็บท็อป หรือสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ และสามารถโอนให้กันได้ และต่อมาเริ่มมีการนามาใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจว่าใช้หน่วยข้อมูลดังกล่าวซื้อขายสินค้าได้ รวมถึงมีการนำมาแลกเปลี่ยนกับเงินตราสกุลต่างๆ โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกันเองในกลุ่มคนที่มีระบบทางคอมพิวเตอร์รองรับการจัดเก็บ และโอนหน่วยข้อมูลดังกล่าว
“ดังนั้น Bitcoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่มีมูลค่าในตัวเอง มูลค่าของหน่วยข้อมูลดังกล่าวแปรผันไปตามความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขายหน่วยข้อมูล มูลค่าจึงเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าได้เมื่อไม่มีผู้ใดต้องการแล้ว”
2.สำหรับความเสี่ยงในการถือครอง Bitcoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ลักษณะใกล้เคียง คือ จากลักษณะของหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มูลค่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เริ่มมีการถือเพื่อเก็งกำไร และมีธุรกิจที่เปิดให้บริการเป็นตลาดกลางให้ประชาชนสามารถเสนอราคาเพื่อซื้อขายหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์โดยแลกเปลี่ยนกับเงินจริง รวมถึงเริ่มมีร้านค้ารับชำระค่าสินค้า และบริการด้วยหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้เห็นว่า มีการใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดจากการถือครองหรือใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การปิดตัวลงของบริษัทที่เป็นตลาดกลางแลกเปลี่ยน Bitcoin ขนาดใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โดยอ้างสาเหตุจากการถูกลักลอบโจรกรรมหน่วยข้อมูล ทำให้บริษัทต้องยื่นล้มละลายในที่สุด และมูลค่า หรือราคาของ Bitcoin ได้ลดลงอย่างมากภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนที่ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนกับบริษัทดังกล่าว และผู้ถือครอง Bitcoin ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก และธนาคารกลางในหลายประเทศได้เริ่มมีการแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้แล้ว
ดังนั้น ธปท.จึง ขอแนะนำให้ประชาชนทั่วไประมัดระวัง ศึกษาข้อมูล และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการถือครอง หรือใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เนื่องจาก
1.หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย การใช้หน่วยข้อมูลดังกล่าวในการชำระค่าสินค้า หรือบริการจึงอาจถูกปฏิเสธจากร้านค้าได้
2.มีความเสี่ยงจากการที่มูลค่าหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ผันแปรอย่างรวดเร็วเนื่องจากมูลค่าของหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เกิดจากความต้องการแลกเปลี่ยนในกลุ่มของผู้ใช้ด้วยกัน มูลค่าจึงมีความผันผวนสูง และไม่สัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจจริง ผู้ถือครองหน่วยข้อมูลจึงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินจากการที่มูลค่าของหน่วยข้อมูลลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว และหากร้านค้าใดรับหน่วยข้อมูลดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้า และบริการของตน ก็อาจมีความเสี่ยงที่หน่วยข้อมูลที่ได้รับมา และถือไว้นั้นอาจมีมูลค่า หรือราคาลดต่าลงได้ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วจากมูลค่า หรือราคาเดิม ณ ขณะที่ตนได้รับมา
3.มีความเสี่ยงจากการถูกขโมยข้อมูล เนื่องจากหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจะต้องจัดเก็บไว้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เท่านั้น จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ถือครองอาจสูญเสียหน่วยข้อมูลดังกล่าวได้จากการถูกลักลอบโจรกรรมข้อมูล
4.มีความเสี่ยงที่ผู้ใช้ไม่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไม่ได้เป็นสื่อการชาระเงินตามกฎหมาย ดังนั้น หากมีการใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวง หรือฉ้อโกง หรือกรณีที่เกิดปัญหาในการใช้งาน เช่น การโอนไปยังผู้รับผิดคน หรือผิดจำนวน หรือโอนไปยังร้านค้าแล้วแต่ไม่ได้รับสินค้า การติดตามข้อมูลการโอนเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานอาจทำได้ยากหากต้องฟ้องร้องดาเนินคดี ซึ่งต่างจากการโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ให้บริการชำระเงินภายใต้การกำกับดูแลของทางการที่มีระบบติดตามได้