ธ.ก.ส.พร้อมจ่ายเงินจำนำข้าว 712 ล้านบาท ให้เกษตรกรที่ตกค้างปี 55/56 ในพื้นที่ 5 จังหวัด เริ่มวันที่ 10 มี.ค.นี้ ส่วนงบฉุกเฉิน 20,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างขั้นตอนเบิกจ่าย เมื่อได้รับแล้วจะเร่งจัดสรรไปตามสาขาต่างๆ เรียงตามคิวใบประทวนที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้
นายอดุลย์ กาญจนวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงการหารือกับกลุ่มเกษตรกรที่มาเรียกร้องให้ ธ.ก.ส. เร่งจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 พร้อมขอทราบความชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร โดยกล่าวว่า ธ.ก.ส.พร้อมจะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ในส่วนของงบประมาณ จำนวน 712 ล้านบาท ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้อนุมัติให้จ่ายแก่เกษตรกรที่มีใบประทวนตกค้างจากปีการผลิต 2555/56 ได้ส่งมาถึง ธ.ก.ส.แล้ว ซึ่ง ธ.ก.ส.จะเร่งจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่มีรายชื่อตามใบประทวนที่ตกค้างทั้งหมดใน 5 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา เริ่มวันจันทร์ที่ 10 มีนาคมนี้
ส่วนงบประมาณ จำนวน 20,000 ล้านบาท ที่ กกต.อนุมัติให้นำมาจ่ายให้เกษตรกรแล้วนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเบิกจ่าย โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เป็นผู้ดำเนินงาน ซึ่งทันทีที่เงินดังกล่าวส่งมายัง ธ.ก.ส. ธนาคารก็พร้อมที่จะจัดสรรงบประมาณดังกล่าวไปยัง ธ.ก.ส.ทุกสาขา ตามปริมาณสัดส่วนใบประทวน จากนั้นสาขาก็จะจ่ายเงินดังกล่าวตามลำดับคิวใบประทวนก่อน-หลัง อย่างเคร่งครัด โปร่งใส
สำหรับกองทุนช่วยเหลือชาวนา ธ.ก.ส.จัดตั้งขึ้นตามคำเรียกร้องของประชาชนทั่วไปที่มีจิตใจเอื้ออาทร ซึ่งเมื่อรับทราบถึงความเดือดร้อนของชาวนา ก็มีความประสงค์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือตามกำลังที่มี โดยขอให้ ธ.ก.ส.ช่วยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมเงินดังกล่าวส่งไปช่วยเหลือพี่น้องชาวนา ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ
1.กองทุนช่วยเหลือชาวนา (บริจาค) ซึ่งเป็นการให้เลย ไม่ต้องการเงินคืน โดยฝากเข้าบัญชีเลขที่ 0200-3-3477-582 ธ.ก.ส. สาขาบางเขน
2.กองทุนช่วยเหลือชาวนา แบบไม่มีผลตอบแทน
3.กองทุนช่วยเหลือชาวนา แบบมีผลตอบแทน ร้อยละ 0.63 ต่อปี
ขณะที่ผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ณ วันที่ 7 มีนาคม 2557 ธ.ก.ส.ทยอยจ่ายเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 70,814 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือก 4.37 ล้านตัน จำนวนเกษตรกร 569,787 ราย