xs
xsm
sm
md
lg

จิตวิทยาการลงทุน (ตอน อดีตที่ฝังใจ)...บล.โกลเบล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช  ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
วันนี้ขอพูดถึงเรื่องจิตวิทยาการลงทุนที่ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการลงทุนในทุกสินทรัพย์นะครับ ไม่ว่าจะเป็นในตลาดทองคำ ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดเงิน หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันก็ตามที

อดีตฝังใจ คือ เหตุการณ์ในอดีตของเรามันจะส่งผลต่อการตัดสินใจของเราในอนาคต ทำให้การตัดสินใจของเราหลายๆครั้งมีอคติปะปนอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะประสบการณ์ในอดีตทั้งร้ายและดีจะทำให้เราเกิดความกลัวหรือความมั่นใจเหนือเหตุผลได้เช่นกัน

เคยมั้ยครับ ที่คุณฟังนักวิเคราะห์ท่านหนึ่งครั้งแรก แล้วนักวิเคราะห์ท่านนี้คาดการณ์ถูกต้องครั้งแรกที่คุณไปฟังพอดี โดยพฤติกรรมของคนทั่วไปแล้ว จะรู้สึกว่า นักวิเคราะห์คนนี้แหละเก่งจริง โดยเฉพาะยิ่งถ้านักวิเคราะห์คนนั้นถูกต้อง 2 ครั้งติดและทำให้คุณได้กำไร 2 ครั้งที่คุณเริ่มซื้อขายตามคำที่เค้าแนะนำด้วยแล้ว มันจะยิ่งทำให้คุณรู้สึกว่า ใช่แล้ว เค้าคือเทพ เค้าคือความหวังที่จะทำพาคุณสู่ความมั่งคั่งเป็นแน่แท้

ความเชื่อมั่นดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะอดีตมันฝังใจคุณไปแล้วว่า นักวิเคราะห์ท่านนี้แม่นมาก ต่อให้หลังจากนั้นเค้าอาจจะคาดการณ์ผิดสองหรือสามครั้งติด คุณก็อาจจะยังให้โอกาสเค้าเช่นเดิม คุณก็ยังอาจจะอ่านบทวิเคราะห์ของเค้า ยังซื้อขายตามคำแนะนำของเค้าอยู่ดี

แต่หากมีนักวิเคราะห์อีกท่านหนึ่ง คุณฟังครั้งแรกแล้วลงทุนตามปุ๊บปรากฏว่าขาดทุนทันที คนส่วนใหญ่ที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ มักจะฟันธงทันทีว่า นักวิเคราะห์คนนี้ของเก๊ ต่อให้หลังจากนั้น เค้าคาดการณ์ถูก 2 ครั้งติด คุณก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดีว่านักวิเคราะห์คนนี้เก่งจริงหรือไม่ นั่นก็เพราะอดีตมันฝังใจคุณว่านักวิเคราะห์ท่านนี้คาดการณ์ผิดมาก่อน คุณจึงมักจะเลือกที่จะไม่เชื่อนักวิเคราะห์คนหลังเท่ากับคนแรก

ในความเป็นจริง เราควรจะไปดูสถิติย้อนหลังของนักวิเคราะห์ทั้ง 2 ท่านว่าใครเก่งกว่ากันมากกว่าจะไปตัดสินจากการถูกผิดแค่ 2-3 ครั้งแรกเท่านั้น

"เรื่องอดีตฝังใจ อาจจะเกิดขึ้นจากราคาสินทรัพย์ หรืออาจจะเป็นเหตุการณ์บางอย่างก็ได้ เช่น ก่อนซัพไพร์ม คุณจะเห็นว่าราคาทองคำมักสวนกับดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ของสหรัฐ แต่พอหลังซัพไพร์มตลาดทองคำกลับพลิกไปมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับดัชนีดาวโจนส์ ทำให้หลายคนที่มีอดีตฝังใจว่า ตลาดหุ้นขึ้น ทองคำต้องลง หลายคนจึงไม่กล้าซื้อทองคำในช่วงนั้น นั่นก็เป็นเพราะอดีตที่ทำให้คุณมองไม่เห็นว่าตลาดได้เปลี่ยนพฤติกรรมไปด้วยเหตุผลใหม่ๆ"

การซื้อขายหุ้นก็เช่นกัน หากเราเคยซื้อขายหุ้นตัวไหนแล้วได้กำไรในครั้งแรก สังเกตได้ว่าหุ้นตัวนั้นจะอยู่ในใจเราตลอดเวลา เราจะคอยจับจ้องที่จะหาจังหวะเข้าซื้อหุ้นตัวนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า (กรณีนี้จะไม่เกี่ยวกับนักลงทุนประเภท Value Investor นะครับ) มันทำให้คุณจะรู้สึกผูกพันกับหุ้นตัวนั้นเป็นพิเศษในทันที แม้หุ้นตัวนั้นอาจจะไม่มีพื้นฐานที่ดีเท่าตัวอื่นๆ หรือแม้แต่ไม่มีแนวโน้มที่ดีเท่าหุ้นตัวอื่น แต่คุณก็จะยังเฝ้ารอเก็งกำไรกับหุ้นตัวนี้อยู่ดี

เช่นเดียวกับราคาทองคำ ใครที่กระโดดเข้าตลาดทองคำตั้งแต่ปี 2009-2011 ก็จะได้กำไรเป็นส่วนใหญ่ อดีตที่ดีครั้งนั้น มันจะทำให้คุณยังจะเฝ้าติดตามและคอยจะหาจังหวะเข้าไปซื้อทองคำอยู่ตลอดเวลา ทำให้แม้แต่ช่วงขาลงของราคาทองคำในปี 2013 หลายคนก็ยังอยากจะเข้าไปซื้อทองคำอยู่ตลอดเวลา และทำให้หลายคนติดดอยทองคำอยู่แถว $1,500 เหรียญขึ้นไป

"ในชีวิตจริงเราเรื่องความสัมพันธ์ของเราก็เหมือนกัน อาจมีนักการเมืองบางคนที่เคยทำให้คุณประทับใจครั้งแรกจนคุณรู้สึกว่าเค้าคือนักการเมืองในฝันของคุณ แต่เวลาผ่านไป แม้เค้าจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า ด้วยอดีตที่ฝังใจ มันอาจทำให้คุณยังมองนักการเมืองคนนั้นเป็นพ่อพระเหมือนเดิมก็ได้ ทั้งๆที่จริงเราควรพิจารณาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตมันจะเป็นอย่างไรมากกว่า เราถึงเลือกที่จะชอบเค้าหรือไม่ชอบเค้าต่อไป เช่นเดียวกับการลงทุน แม้ทองคำเคยเป็นขาลงในปี 2013 แต่ถ้ามันเริ่มมีเหตุผลใหม่ๆ มีปัจจัยใหม่ๆเข้ามา เราก็ควรให้น้ำหนักในการพิจารณาในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมากกว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะมันจะทำให้เราไม่มีอคติกับการตัดสินใจครับ"

สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก

   
กำลังโหลดความคิดเห็น