ITD ยันมาตรฐานการก่อสร้างสูง คาดเหตุโครางสร้างตึกถล่มเกิดจากแรงลม พร้อมเร่งหาสาเหตุเพื่อแก้ไข และฟื้นความเชื่อมั่น ยืนยันเยียวยาผู้เสียหายเต็มที่ ด้าน วสท.สันนิษฐาน 3 สาเหตุหลัก แรงลม-ทาวเวอร์เครนกระแทก-คอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน พร้อมเร่งสรุปสาเหตุหวังเป็นกรณีศึกษาเหตุผู้รับเหมามีชื่อเสียง
นายวิรัช ก้องมณีรัตน์ รองประธานบริหารอาสุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า เหตุการณ์โครงสร้างอาคารของโครงการสถาบันการแพทย์ จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ถล่มเมื่อวันที่ 25 ก.พ.57 ที่ผ่านมา นับเป็นอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง เพราะเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีการก่อสร้างของบริษัทมีมาตรฐานสูงเป็นลำดับต้นๆ ของเมืองไทย ร่วมถึงการป้องกันอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน โดยไซต์งานดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างมาแล้ว 2 ปี ยังไม่มีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นเลย อีกทั้งงานก่อสร้างยังเป็นไปตามแผนงานไม่ได้เร่งก่อสร้างจนทำให้งานไม่ได้คุณภาพ
ที้งนี้ สาเหตุหลักคาดว่าน่าเกิดจากแรงลมที่มาปะทะกับตัวผนังของโครงสร้างช่องบันไดที่มีความสูง 26 เมตร ซึ่งผนังดังกล่าวสร้างเป็นแท่งผนัง 2 ด้าน โดยมีแท่งเหล็กค้ำยันแนวนอนระหว่างผนัง 2 ด้านเป็นช่วงๆ ส่วนด้านบนเป็นสลิฟ ฟอร์ม หรือแบบหล่อแนวดิ่งสำหรับหล่อคอนกรีต เมื่อแแรงลมปะทะนานๆ เข้าอาจทำให้จุดเชื่อมบางจุดหลุดเลื่อน และพังถล่มลงมาในที่สุด อย่างไรก็ตาม บริษัทพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อนำไปแก้ไขกับการก่อสร้างโครงการอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ในระหว่างเกิดเหตุมีคนงานอยู่บนสลิฟ ฟอร์ม 15 ราย ทั้งหมดตกลงมายังพื้นด้านล่าง เมื่อแท่งพนัง และสลิฟ ฟอร์มพังลงมาทับพื้นชั้น 2 ทำให้ยุบตัวลงมาทับคนงานที่อยู่ด้านล่าง เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 11 ราย เป็นชาวไทย 3 ราย แรงงานต่างด้าวชาวพม่า และกัมพูชา 8 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงงานถูกกฎหมาย มีประกันสังคม ประกันชีวิตทุกราย และสวัสดิการตามกฎหมาย
ในเบื้องต้น บริษัทได้ทำการช่วยเหลือเยียวยาแก่ญาติผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ในกรณีผู้เสียชีวิตบริษัทพี้อมดำเนินตามความประสงค์ของญาติว่าต้องการส่งศพกลับบ้าน หรือให้จัดพิธีที่เมืองไทย
สำหรับมูลค่าความเสียหายขณะนี้อยู่ระหว่งตรวจสอบของเจ้าหน้าที่จึงยังไม่สามารถสรุปได้ โดยบริษัทได้ทำประกันภัยไว้ ซึ่งพื้นที่ที่ถล่มลงมา และได้รับความเสียหายคิดเป็น 10% ของพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด โดยยืนยันว่าบริษัทพร้อมเดินหน้าการก่อสร้างต่อไป โดยคนงานยังมีขวัญ และกำลังใจดี
“เหตุอาคารถล่มในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ช็อก และร้ายแรงมากสำหรับบริษัท และมั่นใจถึงมาตรฐานการก่อสร้างสูง จึงต้องการหาสาเหตุที่แน่ชัดเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขในการก่อสร้างของบริษัทต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก พร้อมกันนี้ ยังเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของบริษัทโดยเร็ว” นายวิรัช กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า เหตุอาคารถล่มที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง มีผู้เสียชีวิตถึง 11 ราย และที่น่าตกใจคือ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ตรวจสอบถือเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง และเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีการก่อสร้างอันดับต้นๆ ของไทย ดังนั้น ผู้บริหารโครงการต้องดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุตามหลักวิชาการ เพื่อเป็นองค์ความรู้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า จากการเข้าไปตรวจสอบของ วสท. สันนิษฐานสาเหตุเบื้องต้นเกิดจากขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่งผนังช่องบันไดได้ทำการเทคอนกรีตโดยใช้สลิฟ ฟอร์มเลื่อนขึ้นไปสูง 26 เมตร โดยมีเพียงเหล็กค้ำยันแนวนอนค้ำยันชั่วคราว แล้วจึงทำการก่อสร้างทำให้โครงสร้างการก่อสร้างนี้ไม่เป็นกรอบผนังที่แข็งแรงเพียงพอ จนกว่าพื้นที่จะเทมาเชื่อมต่อ ทั้งนี้ ผู้รับเหมาได้มีการเทค้ำยันผนังดังกล่าวไว้แล้ว แต่ไม่เพียงพอที่จะต้านทางแรงจากอุบัติเหตุครั้งนี้ได้
ในเบื้องต้น วสท. จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1.แรงลมที่เข้ามาปะทะ จนทำให้ผนังพังลงมา เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างใกล้ชายทะเล ส่วนกรณีที่พื้นดินอ่อนนั้นเชื่อว่าไม่ใช่สาเหตุ เนื่องจากโครงสร้างอาคารตั้งอยู่บนตอม่อสาเข็มลึกลงไปในพื้นดินถึง 40 เมตร
2.เนื่องจากมีทาวเวอร์แครนอยู่ในที่เกิดเหตุ อาจเป็นไปได้ว่าทาวน์เวอร์เครนเหียงมากระแทก และ 3.คอนกรีตที่นำมาใช้อาจไม่ได้มาตรฐาน โดยทาง วสท.ได้ทำการเจาะเนื้อคอนกรีตมาเข้าห้องแล็บพิสูจน์ โดยคาดว่าจะสรุปผลได้ใน 15-30 วัน
ด้าน รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งจากการเข้าไปตรวจสอบไซต์งานก็มีมาตรฐานตามระบบวิศวกรรม มองว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการหักโค่นลงมาของช่องบันได น่าจะมาจากความสูงชะลูดของช่องบันได เพราะมีความสูงจากพื้นที่ก่อสร้างขึ้นไปถึง 26 เมตร หรือความสูงประมาณ 7 ชั้น โดยที่มีสลิฟ ฟอร์ม อยู่ด้านบน คาดว่ามีน้ำหนักประมาณ 10 ตัน หรือน้ำหนักเฉลี่ย 50-75 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งช่องบันไดนี้แต่ละขามีความหนา 25 เซนติเมตร ความกว้าง 8.60 เมตร ระยะห่างระหว่างขาทั้ง 2 ประมาณ 3.20 ม. ซึ่งผู้รับเหมามีการใช้แท่งเหล็กค้ำยันแนวราบระหว่างขาทั้ง 2 ด้าน ทุกความสูงระยะ 3 เมตร
การที่ขามีความสูงชะลูดนั้น มีโอกาสที่จะทำให้ขาแต่ละข้างมาการเบ้ออกด้านข้าง ทำให้มีผลต่อการรับน้ำหนักของสลิฟ ฟอร์มที่อยู่ด้านบน ซึ่งหาขาด้านใดเบ้ออก การรับน้ำหนักก็จะเทไปด้านนั้น และทำให้เกิดการหักโค่นได้ ซึ่งตามมาตรฐานกำหนดไว้ว่า ทุกความสูง 1,000 ซม. จะมีการเบ้ของขา 1 ซม. ต้องรักษาระดับไว้ไม่ให้เกินนี้ ตามมาตรฐานการก่อสร้างสามารถใช้เหล็กค้ำยันแนวราบก็เพียงพอในบางพื้นที่ แต่กรณีที่เป็นพื้นที่ที่มีลมแรงการใช้เหล็กค้ำยันเพียงแนวราบจึงไม่เพียงพอ
ดังนั้น จะต้องมีการใช้เหล็กค้ำยันในแนวขวางด้วย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างให้มากขึ้น ซึ่งการสร้างโครงสร้างลักษณะนี้ในโครงการอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ควรจะมีเหล็กค้ำยันทั้ง 2 แนวคือแนวราบ และแนวขวาง เพื่อความแข็งแรง และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
ส่วนการหล่อคอนกรีตแบบสลิฟ ฟอร์มตามมาตรฐานจะสามารถถอดแบบหล่อเมื่อคอนกรีตแห้งได้ใน 22-24 ชม. แต่ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างในปัจจุบัน ผู้ประกอบการบางรายก็มีการถอดแบบหล่อออกเร็วเพื่อเร่งระยะเวลาการก่อสร้างใช้เวลา 12-18 ชม. ซึ่งการก่อสร้างของผู้รับเหมาก็เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะไม่กระทบต่อโครงสร้างอื่นๆ ยังสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามปกติในพื้นที่นอกเหนือที่เกิดเหตุ