xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” เตือน “คลัง” กู้รัฐวิสาหกิจเสี่ยงผิดกฎหมาย เข้าข่ายนิติกรรมอำพราง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีตขุนคลัง “ธีระชัย” เตือนรองผู้อำนวยการ สบน. กำลังเสี่ยงทำผิดกฎหมาย ชี้การส่งหนังสือถึงรัฐวิสาหกิจแจ้งความประสงค์จัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. โดยการเชิญให้ร่วมประมูลตั๋วสัญญาใช้เงิน อาจเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala เตือนรองผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กำลังเสี่ยงจะทำผิดกฎหมาย ภายหลังสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง มีหนังสือลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ไปถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ แจ้งว่า กระทรวงการคลัง ประสงค์จะจัดหาเงินกู้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยทาง ธ.ก.ส. ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกัน

โดย นายธีระชัย ระบุว่า ขั้นตอนการขาย ได้ทำให้ดูเสมือนจะเป็นการประมูลทั่วไป โดยให้ผู้ซื้อประมูลขั้นต่ำ 100 ล้านบาทต่อ 1 อัตราผลตอบแทน หนังสือดังกล่าวลงนามโดย นายทวี ไอศูรย์พิศาลคีรี รอง ผอ.สบน. ซึ่งการทำอย่างนี้อาจทำให้ รอง ผอ.สบน. และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ให้กู้นั้นเสี่ยงที่จะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับรัฐมนตรีคลัง ฝ่าฝืนมาตรา 181 (4) เพราะเหตุใดการประมูลเพื่อกู้เงินโดยกระทรวงการคลังที่ผ่านมานั้น ทุกๆ ครั้ง จะใช้วิธีเปิดประมูลแบบเปิดเผย โปร่งใส และเป็นไปตามปฏิทินที่กำหนดล่วงหน้า ทั้งจำนวนเงิน และอายุของตราสาร

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ที่เข้าร่วมประมูลจะต้องมีสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ Primary Dealers เข้าร่วมด้วยทุกราย ทุกครั้งไม่ใช่เปิดให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาประมูลกันตรงๆ โดยไม่ผ่าน Primary Dealers ซึ่ง Primary Dealers หมายถึง สถาบันการเงินที่เป็นคู่ค้าหลักกับรัฐบาล ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีอยู 10 แห่ง

ดังนั้น ในกรณีนี้ รอง ผอ.สบน. ได้เสนอให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาประมูลเพื่อให้กู้แก่ ธ.ก.ส. แต่มิได้เป็นการประมูลแบบปกติ มิได้เป็นการประมูลที่บังคับให้ Primary Dealers ต้องเข้าร่วมประมูล และด้วยวิธีการที่รอง ผอ.สบน. เสนอ จึงเป็นการประมูลที่ไม่สมบูรณ์แบบ เข้าข่ายเป็นการดำเนินการที่ฉ้อฉล มีเจตนาจะให้เกิดประโยชน์แก่พรรคร่วมรัฐบาลในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้นบริบูรณ์ ซึ่งหากรัฐวิสาหกิจเข้าไปร่วมในขบวนการนี้ ผู้บริหารก็จะเสี่ยงที่จะมีปัญหา ทั้งในมาตรา 181 (3) และ 181 (4)
กำลังโหลดความคิดเห็น