หุ้นเปิดบวก 7 จุด ทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ตอบรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้น แนะจับตาการเมืองในประเทศ โดยมีช่วงประกาศผลการดำเนินงานของ บจ.ต่างๆ อาจทำให้มีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาช่วยหนุนให้ดัชนีฯ สามารถขยับบวกต่อเนื่อง แนะให้ระวังแรงขายทำกำไร พร้อมให้กรอบ 1,285-1,310 จุด
ภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ (7 ก.พ.) ดัชนีเปิดในแดนบวก โดยเมื่อเวลา 09.56 น. ดัชนีปรับไปที่ระดับ 1,302.84 จุด เพิ่มขึ้น 7.60 จุด หรือเปลี่ยนแปลง +0.59% มูลค่าการซื้อขาย 826.50 ล้านบาท
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ มองว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยเช้านี้จะปรับตัวขึ้นต่อตามตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นไปได้ค่อนข้างดี โดยที่เมื่อวานตลาดหุ้นดาวโจนส์ และตลาดหุ้นยุโรป ปรับตัวขึ้นมากกว่า 1% หลังจากสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 1 ก.พ. ปรับตัวลดลง 20,000 ราย สู่ระดับ 331,000 ราย ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงแตะระดับ 335,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงาน และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่ดี
ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% แต่เปิดช่องที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก และพร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อสกัดภาวะเงินเฟื้อที่เริ่มชะลอตัวลง ที่อาจจะส่งผลให้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด
สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ยังต้องรอติดตามศาลแพ่งนัดสืบพยาน เพิกถอนการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 12 ก.พ. พร้อมให้แนวรับที่ 1,285 จุด และแนวต้าน 1,310 จุด
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า เมื่อคืนนี้ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาดี ช่วยหนุนให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และส่งผลให้ตลาดหุ้นต่างประเทศเช้านี้ยังคงสดใส แต่ก็มีนักลงทุนบางส่วนที่รอติดตามการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในคืนวันนี้ (7 ก.พ.) อีกครั้ง ขณะที่สถานการณ์การชุมนุมในบ้านเราช่วงนี้ก็ไม่ได้ตึงเครียดมากนัก ประกอบกับเป็นช่วงประกาศผลการดำเนินงานของ บจ.ต่างๆ จึงทำให้มีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาช่วยหนุนให้ดัชนีสามารถขยับบวกต่อเนื่องได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบวกยังมีแรงขายทำกำไรออกมากดดันให้ดัชนีแกว่งตัวผันผวนอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่าดัชนีฯ จะยังมีกรอบการขึ้นที่ค่อนข้างจำกัด และยังมีความเสี่ยงต่อการแกว่งตัวย้อนลงได้อีก เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อ มีสิทธิที่จะส่งผลกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยให้อ่อนแอลงได้