“แบงก์ชาติ” ชี้แนวโน้ม ศก. ไตรมาส 1 ปี 57 ยังขยายตัวต่ำ ส่งผลให้ “กนง.” ปรับลด “จีดีพี” ลงเหลือเติบโต 3% จากเดิมที่ 4% โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนเติบโตในทิศทางชะลอตัวลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูงจึงไม่น่าจะเกิดภาวะเงินฝืด
นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กนง.ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2557 ลงเหลือ 3% จากเดิมคาดไว้ 4% เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกยังขยายตัวต่ำ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และรายได้ชะลอตัว สัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ก็มีโอกาสสูงขึ้น แต่ยังไม่น่ากังวล เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งผู้กู้ และผู้ปล่อยกู้มีความระมัดระวัง เช่น ภาคครัวเรือน แสดงความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และธนาคารพาณิชย์พิจารณาปล่อยกู้อย่างรอบคอบ ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ยังช่วยประคับประคองลูกค้าเอสเอ็มอีเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้
โดยในส่วนของสินเชื่อภาคครัวเรือนที่เติบโตในทิศทางชะลอตัวลงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการชะลอตัวลงของสินเชื่อรถยนต์ รวมทั้งสินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อการศึกษา ประกอบกับที่ผ่านมา ครัวเรือนมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนการที่ครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายจะส่งผลให้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ นางรุ่ง กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังไม่ต่ำลง แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนมกราคมเป็น 1.93% จาก 1.67% ในเดือนธันวาคม 2556 ส่วนหนึ่งราคาพลังงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น การเกิดภาวะเงินฝืดมีน้อย โดยเห็นได้ชัดดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้น 1.2% เดือนมกราคม ซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 3-4% ใกล้เคียงกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะปรับราคาสินค้า หรือตั้งราคาสินค้าสูงมากเกินไปโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินฝืดเป็นไปได้ยาก โดย ธปท.เชื่อว่าเงินเฟ้อปี 2557 จะอยู่ที่ 2-3% ส่วนการเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้าย และค่าเงินบาทหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธปท.ยังไม่พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติแต่อย่างใด