รัฐวิ่งพล่านหาเงินอุดโครงการจำนำข้าว “คลัง” หวั่นแบงก์รัฐเมินปล่อยกู้ หลังกลิ่นทุจริตโชยหึ่ง ทำความเสี่ยงเงินกู้สูงขึ้น ส่งผลให้ต้องเจอดอกเบี้ยจ่ายที่แพงกว่าปกติ คาดสัปดาห์นี้รู้ผลกฤษฎีกาไฟเขียวกู้ 1.3 แสนล้านบาทหรือไม่
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ซักซ้อมทำความเข้าใจการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อจ่ายให้เกษตรกรที่ยังค้างจ่ายอีกกว่า 1 แสนล้านบาท ต่อสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายกิตติรัตน์ เชื่อมั่นว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีความเห็นให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้ภายในสัปดาห์นี้
สำหรับขั้นตอนการกู้เงินนั้น นายกิตติรัตน์ ยืนยันต่อ สบน. โดยระบุว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่งดการกู้เงินจากการออก พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะก่อหนี้ในปีนี้ได้ 1.2 แสนล้านบาท และไปเพิ่มการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1.3 แสนล้านบาทแทน เพื่อไปจ่ายค่าจำนำข้าวให้แก่เกษตรกรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลได้ทำเรื่องถามคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งทาง กกต.ระบุว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจเอง รัฐบาลจึงทำเรื่องไปถามกฤษฎีกาว่าสามารถกู้เงินได้หรือไม่ หากว่ากฤษฎีกาตอบว่ากู้ได้ก็ถือรัฐบาลได้ดำเนินการต่างๆ ครบถ้วน ก็ทำให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. ได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.อีกครั้ง
สำหรับการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท ได้วางแผนที่จะกู้กับธนาคารโดยตรง เพราะดำเนินการได้รวดเร็วกว่าการออกพันธบัตร เนื่องจากรัฐบาลต้องรีบใช้เงินจ่ายเกษตรกรที่ค้างมาเป็นเวลาหลายเดือน โดยจะทำหนังสือไปถึงธนาคารทั้ง 33 แห่งในประเทศไทย ยื่นเสนอประมูลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ โดยกระทรวงการคลัง จะเลือกจากผู้ที่เสนออัตราดอกเบี้ยต่ำสุดก่อน
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวยืนยันว่าการกู้เงินรับจำนำข้าวจากธนาคารครั้งนี้อาจจะกู้ได้ยาก เพราะหลายธนาคารปฏิเสธที่จะปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาล ทั้งธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เพราะมีผู้ชุมนุมประท้วงไปกดดันไม่ให้ปล่อยกู้ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งกังวลว่าการปล่อยกู้จะไม่ถูกต้อง เพราะไม่แน่ใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลไปขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ในภายหลัง
“ต้องยอมรับว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเป็นกังวลว่าภาพลักษณ์ของธนาคารจะออกมาไม่ดี ถ้าปล่อยกู้ให้แก่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่มีทั้งการทุจริต และความเสียหายเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้กระทรวงการคลังต้องกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้น”
นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษา สบน. เปิดเผยว่า สบน.คิดว่ายังมีหลายธนาคารต้องการปล่อยกู้ในโครงการรับจำนำข้าว แม้ว่าโครงการจะมีปัญหา เพราะการปล่อยกู้ของธนาคารจะคิดถึงเรื่องความปลอดภัยในการกู้ และผลตอบแทนที่ได้รับเป็นสำคัญ ซึ่งการปล่อยกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ถือว่ามีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ และการปล่อยกู้เป็นวงเงินที่สูง ทำให้ธนาคารไม่ต้องเหนื่อยไปหาลูกค้าสินเชื่อรายอื่น อย่างไรก็ตาม หากสำนักงานกฤษฎีกาตอบว่า กระทรวงการคลัง ไม่สามารถกู้เงินจำนำข้าวเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหาเงินจากแหล่งอื่นมาจ่ายให้แก่เกษตรกร