บอร์ด ธ.ก.ส. รอคลังแจงที่มาเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท เพื่อใช้หนี้รับจำนำข้าวต่อ กกต. ก่อนควักจ่ายให้เกษตรกรที่ค้าง ยอมรับเหลือเงินจ่ายได้อีกแค่ 1 พันล้าน กำชับฝ่ายบริหารเร่งเยียวยาความเดือดร้อนชาวนา ไม่ได้รับเงินจำนำข้าว 3-4 เดือน เพื่อให้อยู่ในกรอบความรับผิดชอบเอง โดยไม่ต้องเสนอ ครม. ขณะที่ กขช. มีมติไม่ขยายระยะเวลาการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 56/57 ที่จะสิ้นสุดเดือน ก.พ.นี้ เนื่องจากไม่ต้องการสร้างภาระผูกพันเพิ่ม ด้านแบงก์กรุงไทย แจงการให้สินเชื่อ ธ.ก.ส. ในโครงการจำนำผลิตผลทางการเกษตร ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับที่ให้แก่สถาบันการเงินอื่น
รายงานข่าวเปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการการเลื่อกตั้ง (กกต.) ที่มีการเชิญกระทรวงการคลังไปชี้แจงเรื่องเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาทก่อนว่าจะมีข้อสรุปแหล่งเงินกู้ที่จะมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวอย่างไรบ้าง จากปัจจุบันที่มีการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวเต็มกรอบ 5 แสนล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว หากกระทรวงการคลัง สามารถหาแหล่งเงินกู้มาได้ ธ.ก.ส.ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ยังค้างอยู่ได้ทันที
นอกจากนี้ บอร์ดยังได้กำชับฝ่ายบริหารให้ดำเนินการหามาตรการเยียวยาเกษตรกรที่เดือดร้อน จากการไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าวเป็นเวลา 3-4 เดือนแล้ว โดยให้เป็นมาตรการที่อยู่ในกรอบความรับผิดชอบของธ.ก.ส.เอง โดยไม่ต้องนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา
ด้านแหล่งข่าวจากบอร์ด ธ.ก.ส. ยอมรับว่า บอร์ดจะรอดูผลการพิจารณาของ กกต.ที่มีการเชิญกระทรวงการคลังไปชี้แจงเรื่องเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาทก่อนว่า จะมีข้อสรุปแหล่งเงินกู้ที่จะมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวอย่างไรบ้าง จากปัจจุบันที่มีการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวเต็มกรอบ 5 แสนล้านบาท ตามมติ ครม.แล้ว หากกระทรวงการคลัง สามารถหาแหล่งเงินกู้มาได้ ธ.ก.ส.ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ยังค้างอยู่ได้ทันที
นายสุวิทย์ ตรีรัตน์ศิริกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารเหลือเงินเพียง 1,000 ล้านบาท สำหรับจ่ายให้เกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าว และหลังจากนี้ต้องรอผลการหารือของ กระทรวงการคลัง และ กกต. จะสามารถดำเนินการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการดังกล่าวได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม บอร์ด ธ.ก.ส. ได้ยกเลิกการประชุมเรื่องโครงการจำนำข้าว เนื่องจากคณะกรรมการไม่ครบองค์ประชุม เพราะไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ โดยหลังจากนี้ยังต้องมีการประชุมคณะกรรมการอีกครั้งเป็นวาระปกติที่เกี่ยวกับการอนุมัติแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร และเรื่องอื่นๆ ซึ่งจะแจ้งให้แก่กลุ่มพนักงานธนาคารทุกครั้งก่อนประชุม
ขณะที่สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. ยังติดตามการประชุมของบอร์ด ธ.ก.ส.อย่างใกล้ชิด โดยหากบอร์ดมีการหยิบยกเรื่องการใช้เงินฝากจ่ายค่าจำนำข้าวอีกทางสหภาพฯ จะออกมาเคลื่อนไหวทันที และหากบอร์ดยังพิจารณาเรื่องดังกล่าว สหภาพจะยื่นศาลขอให้คุ้มครองการใช้เงินฝากชั่วคราว
ลำหรับมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการได้รับการจ่ายเงินล่าช้า เพราะล่าลุด ธ.ก.ส.จ่ายเงินจำนำข้าวไปได้แล้ว 5.4 หมื่นล้านบาท ยังเหลือประมาณพันล้านบาทที่ต้องสำรองไว้ไม่กล้าเบิกจ่ายออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกินเพดาน 5 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการเยียวยา คือ การปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องวงเงินหมื่นล้านบาท โดยให้กู้แต่ละรายไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าใบประทวน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 7 ส่วนรายไดทีปัญหากรชำระหนี้เดิม จะผ่อนผันยืดเวลาการจ่ายหนี้ให้ 1 ปี โดยไม่คิดค่าปรับ
ด้านนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การให้สินเชื่อแก่ ธ.ก.ส. ในโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรนั้น ธนาคารใช้หลักเกณฑ์เดียวกับที่ให้วงเงินสินเชื่อแก่สถาบันการเงินต่างๆ โดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ หรือผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ โดยพิจารณาผ่านฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมกับสภาพธุรกิจและฐานะทางการเงิน
“ขอให้ลูกค้า และประชาชนมั่นใจการดำเนินธุรกิจของธนาคารซึ่งคำนึงถึงการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด เพราะธนาคารเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีผู้ถือหุ้นรายย่อย และสถาบันการเงินมากกว่าร้อยละ 45 และยังต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ใหญ่อื่นๆ ดังนั้น ธนาคารจะคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ที่สำคัญธนาคารอยู่ภายใต้การดูแล และกำกับจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน”
ส่วนผลการดำเนินธุรกิจปีที่ผ่านมานั้น สินเชื่อ และเงินฝากของธนาคารเติบโตดีตามเป้าหมาย โดยเฉพาะสินเชื่อสามารถทำได้เกินเป้าหมาย โดยเติบโตจากสินเชื่อในภาคธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีสินทรัพย์ 2.5 ล้านล้านบาท เป็นพอร์ตของภาคเอกชน 2.2 ล้านล้านบาท
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องแนวทางการหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด โดยที่ประชุม กขช.มีมติไม่ขยายระยะเวลาการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 ที่จะสิ้นสุดสินเดือนกุมภาพันธ์นี้ แม้จะมีชาวนาบางส่วนร้องขอให้ขยายเวลารับจำนำ เนื่องจากไม่ต้องการสร้างภาระผูกพันเพิ่ม
นอกจากนี้ กขช.ได้พิจารณาแนวทางหาเงินจ่ายให้ชาวนาบางส่วนที่ตกค้างมาจากฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ที่ได้รับใบประทวนล่าช้า เนื่องจากเกิดปัญหาเอกสารการบันทึกตกหล่น โดย กขช.เห็นว่าไม่ได้เกิดจากความผิดของชาวนา มาจากความผิดพลาดในการออกหนังสือรับรอง ซึ่งมีจำนวนข้าวที่ค้างอยู่ไม่มากหลักหมื่นตัน คิดเป็นวงเงินที่ต้องจ่ายประมาณ 700 ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระต่อรัฐบาล ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะใช้งบประมาณส่วนใด