ผ่าประเด็นร้อน
ในที่สุดความหวังสุดท้ายของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะขอกู้เงินจำนวน 1.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งกู้สัปดาห์ละ 2 หมื่นล้านบาทจากธนาคารกรุงไทย สถาบันการเงินรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ มีอันต้อง “พังทลาย” ลงแล้ว หลังจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ วรภัค ธันยาวงษ์ ได้ออกมาแถลงปฏิเสธการให้รัฐบาลกู้เงินดังกล่าว โดยสรุปก็คือ “กลัวธนาคารเจ๊ง” เนื่องจาก “มีความเสี่ยง” ทั้งตัวโครงการเอง และคนที่ขอกู้คือ รัฐบาลรักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายว่าทำได้หรือเปล่า อีกทั้งยังกลัวว่าเมื่อธนาคารปล่อยกู้ไปแล้วจะทำให้ลูกค้าเกิดความไม่มั่นใจแห่กันมาถอนเงิน ทำให้ธนาคารเกิดอาการซวนเซได้ ซึ่งอย่างหลังเขาไม่ได้พูดตรงๆ แต่ความหมายก็ออกมาแนวนั้นแหละ
พร้อมกันนี้ยังยกหลัก “ธรรมาภิบาล” มาเป็นเกราะกำบังอีกชั้นหนึ่ง เพื่อสะกิดต่อม “ละอาย” ของรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะที่เคยบริหารตลาดหลักทรัพย์มาก่อน
อย่างไรก็ดี การแถลงปฏิเสธการปล่อยกู้ดังกล่าวของกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากพิจารณาจากท่าทีก่อนหน้านี้ที่เขาออกมาปฏิเสธข่าวที่ส่งต่อกันในโลกโซเชียลฯ ว่าธนาคารกรุงไทยแอบปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลไปแล้วจำนวน 1.6 แสนล้านบาท โดยคราวนั้นเขายอมรับว่าข่าวดังกล่าวทำให้ธนาคารได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่น เนื่องจากมีลูกค้าสอบถามจำนวนมาก
ถ้ามองกันแบบผิวเผิน เหมือนกับว่าพวกสถาบันการเงิน ธนาคารต่างๆ เหล่านี้ “ใจดำ” ไม่เห็นใจชาวนา เริ่มตั้งแต่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่ยอมปล่อยกู้ให้รัฐบาล จากนั้นถัดมาเป็นธนาคารออมสิน และล่าสุดก็เป็นกรุงไทยนี่แหละ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหากพิจารณาจากกรณีของ ธ.ก.ส.เป็นตัวอย่าง ที่ก่อนหน้านี้ได้รับ"หน้าเสื่อ"สำรองจ่ายไปให้รัฐบาลจนเกินโควตาแล้ว ซึ่งถ้ารัฐบาลขายข้าวในสต๊อกออกไปได้ตามปกติก็สามารถนำเงินมาทยอยจ่ายให้กับชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าวได้ตามปกติ
แต่เป็นเพราะทุจริตกันอย่างมโหฬาร ไม่มีการขายข้าวออกไปจริง “เงินจึงขาดมือ” หมุนไม่ทัน เราจึงได้เห็นรัฐบาลกลายเป็น “ลูกหนี้” ของชาวนาเป็นครั้งแรก และค้างจ่ายมานานกว่า 5-6 เดือนแล้ว ลองคิดดูเอาเองว่าชาวนาเขาจะเดือดร้อนกันขนาดไหน
ความพยายามของรัฐบาลโดยรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้มีความพยายามขอกู้เงินมาโปะโดยตลอด ตอนแรกจะไปขอกู้กับ ธ.ก.ส.โดยขอให้นำ “เงินฝาก” มาให้กู้จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท แต่ปรากฏว่าได่รับการต่อต้านจากบรรดาพนักงานโดยเฉพาะสหภาพแรงงานคัดค้านกันอย่างเต็มที่เพราะเกรงว่าหากขืนทำแบบนี้จะทำให้ธนาคารล้มได้ จึงยุติไปหันไปหาธนาคารออมสิน แต่ก็ถูกต่อต้านในลักษณะเดียวกัน จนมาถึงธนาคารกรุงไทย ที่เป็นความหวังสุดท้าย เนื่องจากเป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง สามารถทำได้ อีกทั้งตัวประธานบอร์ดธนาคาร คือ พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ก็มาจากการผลักดันของรัฐมนตรีว่าการกรทรวงการคลังสามารถล็อบบี้กันได้ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถฝ่าด่านคัดค้านของพนักงาน และผู้บริหารธนาคารไปได้ เพราะถ้าขืนปล่อยกู้ก็มีสิทธิ์เจ๊งสูง
นอกจากนี้ยังมีข่าวร้ายตามมาสมทบแบบประดังเข้ามาอีก นั่นคือ ทางรัฐวิสาหิจของจีนที่ถูกอ้างว่ามีการเจรจาซื้อข้าวกับฝ่ายไทย ก็ได้แถลงยกเลิกการเจรจาซื้อข้าวแล้ว ทำให้หนทางในการหาเงินมาจ่ายหนี้ชาวนาก็ต้องดับวูบลงไปอีก
ดังนั้น เหลือวิธีการเดียวที่บีบให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องทำก็คือ นำข้าวในสต๊อกที่เก็บไว้ในโกดังออกมาประมูลขาย
แต่ด้วยการเก็บรักษาข้าว “ค้างสต๊อก” มานานทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ อีกทั้งการรีบประมูลในลักษณะแบบนี้ยิ่งถูกกดราคา ทำให้ขาย “ขาดทุน” มากมาย
เหมือนอย่างในตอนนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำข้าวจำนวน 4 แสนตันออกมาขายให้เอกชน แต่ก็มีรายงานว่า ต้อง “ขายต่ำกว่าราคาตลาด” ถึงตันละ 13,000 บาท มันก็ยิ่งทำให้รัฐขาดทุนเข้าเนื้อมหาศาลเข้าไปอีก
แต่ถึงอย่างไรวิธีนี้ก็ยังไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อนของชาวนาที่รอเงินอีกนับแสนๆ ราย ซึ่งนาทีนี้เมื่อธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายไม่ให้กู้ รัฐบาลก็หมดหนทางหาเงินมาจ่ายหนี้ชาวนา และยิ่งลักษณ์ ก็จบกัน!!