แบงก์กรุงเทพ สำรองเงินสดช่วงปีใหม่กว่า 50,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางบริการเอทีเอ็ม จำนวนกว่า 8,300 จุดทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเบิกถอนเงินสดสำหรับใช้จ่ายในช่วงเทศกาลดังกล่าวได้อย่างสบายใจ เผยสาขาเปิดบริการอีกครั้ง 2 ม.ค.57 ด้านแบงก์กรุงศรีฯ สำรองเงินสดปีใหม่กว่า 8,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 1,351 ล้านบาท ส่วนค่ายกสิกรฯ จัดเต็ม 48,000 ล้านบาท
รายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 7 วัน ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2557 นั้น ทางธนาคารได้สำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 50,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีกว่า 8,300 จุดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินของธนาคารกรุงเทพ ผ่านสาขาไมโครที่เปิดให้บริการภายในห้างสรรพสินค้า และจุดชุมชนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ได้ตามปกติในช่วงดังกล่าวอีกด้วย โดยสาขาของธนาคารทั่วประเทศ จะเปิดทำการปกติตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2557 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการเพิ่มความถี่ในการเติมเงินสดยังตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ จึงขอให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถเบิกถอนเงินสดสำหรับใช้จ่ายในช่วงเทศกาลดังกล่าวได้อย่างสบายใจ
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทางธนาคารได้สำรองเงินสด เพื่อรองรับการเบิกถอน เงินของลูกค้าและประชาชนผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม และสาขาของธนาคารทั่วประเทศ ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ รวม 8,252 ล้านบาท
ทั้งนี้ แบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม 6,025 ล้านบาท และผ่านสาขาของธนาคาร 2,227 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 1,351 ล้านบาท ตามจำนวนสาขาและเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม ที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันธนาคารมี 608 สาขา และเครื่องกรุงศรีเอทีเอ็ม 4,569 เครื่องทั่วประเทศ
ชณะที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2556 - 1 มกราคม 2557 จำนวน 46,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านสาขา 9,500 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมาประมาณ 3,500 ล้านบาท
โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ 4,500 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 5,000 ล้านบาท สำหรับการสำรองเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่กว่า 8,700 เครื่องทั่วประเทศ 37,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ 17,500 ล้านบาท และเขตภูมิภาค 19,500 ล้านบาท