สองตระกูลใหญ่แห่งเบียร์เมืองไทย รุกระดมทุนในตลาดหุ้น “ภิรมย์ภักดี” เข็น “บางกอกกล๊าส”ขายหุ้นอีพโอ ระดมทุนก่อสร้างและพัฒนาโรงงานใหม่ ด้าน “สิริวัฒนภักดี” เตรียมรวบ 12 โรงแรมหรูในมือ ตั้งกองทุน 3.2 หมื่นล้าน ดันภาพรวมทั้งกลุ่มมีพอร์ตกองทุนอสังหาฯแตะ 1.32 แสนล้าน ดัน “ทีทีซีแลนด์”ขึ้นเบอร์หนึ่ง
นายปวิณ ภิรมย์ภักดี กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BG ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรระดับชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟล์ลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 241,400,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 4,827 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 3,620 ล้านบาท
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้จองซื้อหุ้นไอพีโอได้ภายในปี 2557 และคาดว่า จะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในช่วงเดียวกัน ส่วนเงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปดำเนินการก่อสร้าง และพัฒนาโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทแก้วแห่งใหม่ในจ.ราชบุรี
ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร และมีการประกอบธุรกิจแบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์แก้ว 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น และ 3.กลุ่มธุรกิจอื่น ทั้งนี้บริษัทฯ มุ่งเน้นการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเป็นหลัก โดยผลิตและจำหน่ายให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอุตสาหกรรมอาหารและยา นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์หลากหลายประเภทสำหรับจำหน่ายในตลาดบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น เช่น ฝาพลาสติก ฝาจีบ ลังพลาสติก ขวดพลาสติก PET และกล่องลูกฟูก และบริษัทฯ ยังมีการประกอบธุรกิจในด้านอื่นๆ ได้แก่ สโมสรฟุตบอล เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทฯ
ผลการดำเนินงานในปี2555 บริษัทฯมีรายได้จากการขาย 11,969.4 ล้านบาท กำไรสุทธิ 493.1 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน2556 มีรายได้จากการขาย 6,807.2 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 447.4 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 1,024.72% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
“เราเป็นผู้นำทางด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอยู่ในระดับชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย จากจุดเริ่มต้นของกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเพียง 150 ตันต่อวัน ณ วันนี้เราพัฒนากำลังการผลิตขึ้นมาสูงถึง3,635 ตันต่อวัน และไม่เพียงแต่บรรจุภัณฑ์แก้วเท่านั้นที่เรามุ่งเน้นพัฒนา แต่มีความสามารถในการผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ด้วย ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่เติบโตในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อปี 2517 มีทุนจดทะเบียน จำนวน 4,827 ล้านบาท และชำระแล้ว 3,820 ล้านบาท ในปัจจุบัน บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
กลุ่มเสี่ยเจริญจ่อเข็น12โรงแรมตั้งกองทุน
ขณะดัยวกัน วานนี้ (18พ.ย.) นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า บริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงแรมในกลุ่มของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีแผนจะเสนอขายกองทุนอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ารวม 32,000 ล้านบาท โดยจะนำสินทรัพย์ภายใต้โรงแรม 12 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพและมีบางส่วนในต่างจังหวัดซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว มีส่วนผสมของกรรมสิทธิ์ (Free Hold) ประมาณ 80% เสนอขายภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่า อัตราผลตอบแทนที่ให้กับผู้ถือหน่วยไม่ต่ำกว่า 7% และจะเป็นกองทุนโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม รวมทั้งจะมีการระดมทุนผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ซึ่งจะลงทุนในซัมเมอร์เซ็ท สุขุมวิท ทองหล่อ มูลค่า 2,000 ล้านบาท ได้ยื่นของจัดตั้งกับทางสำนักงานก.ล.ต.แล้ว
พอร์ตกองทุนอสังหาฯเสี่ยเจริญแตะ1.3 แสนล.
สำหรับ พอร์ตกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่ม ทีซีซี แลนด์ (กลุ่มของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี) แบ่งเป็นกองทุนอสังหาฯประเภท 1 ประมาณ 76,700 ล้านบาท และกองทุนอสังหาฯประเภท 2 และ 4 อยู่ที่ 56,000 ล้านบาท ซึ่งพอร์ตทั้งหมดจะรวมกันอยู่ที่ประมาณ 132,745 ล้านบาท
โดยพอร์ตกองทุนอสังหาฯของกลุ่มทีซีซีแลนด์ประกอบไปด้วย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ ลงทุนในโครงการอาคารเนชั่น ทาวเวอร์อาคาร Empire Tower, อาคาร Athenee Tower, อาคาร CyberWorld Tower, อาคาร 208 Wireless Road Buildingและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทล อินเวสเม้นต์ ซึ่งจะลงทุนในโครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วานเชียงใหม่, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ, โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, โครงการตะวันนา, โครงการโอ.พี. เพลส และโครงการเกตเวย์เอกมัย
ขณะที่ มูลค่าสินทรัพย์ในส่วนของกองทุนอสังหาฯ ภายใต้การบริหารของ บลจ.กรุงไทย ในสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 190,000 ล้านบาท