xs
xsm
sm
md
lg

“ก.แรงงาน” เจอ “ม็อบ” อีกระลอก วอนช่วยเจรานายจ้าง ขอเงินชดเชย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานน้ำท่วมในนิคมฯ จ.อยุธยา-ปทุมธานี 9 แห่ง บุก ก.แรงงาน ยื่นหนังสือขอ กสร.ช่วยเจรจานายจ้างขอความชัดเจนเลิกจ้าง พร้อมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย อธิบดี กสร.เผย 9 บริษัทมีแนวโน้มถูกเลิกจ้างกว่า 2 พันคน สั่งเจ้าหน้าที่ กสร.เร่งเรียกนายจ้างเจรจา

วันนี้ (2 ก.พ.) ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานบริษัท เอ็นอีซีโทคิน ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นบริษัทลูกของบริษัท เอ็นอีซี ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ซึ่งก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.-2 ก.พ.ที่ผ่านมาได้มาชุมนุมกันอยู่บริเวณใต้อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ภายในกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ วันนี้ (2 ก.พ.) ยังคงมีพนักงานบริษัทดังกล่าวชุมนุมอยู่ประมาณ 400 คน เพื่อขอให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ช่วยเหลือโดยเจรจากับทางบริษัทเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องการเลิกจ้าง และหากเลิกจ้างก็ขอให้จ่ายเงินชดเชยและเงินพิเศษต่างๆ ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เนื่องจากบริษัทถูกน้ำท่วมและจะย้ายโรงงานไปที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกร บางปะกง จ.ฉะเชิงเทราโดยจะนำพนักงานไปด้วยตามความสมัครใจประมาณ 200 คน จากที่มีอยู่ทั้งหมด 3,100 คน ทำให้พนักงานที่เหลือ 2,900 คน จะต้องถูกเลิกจ้าง

หลังจากนั้น เวลา 10.00 น. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานตัวแทนสหภาพแรงงานและพนักงานของสถานประกอบการต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม ใน จ.พระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรม ใน จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมและมีแนวโน้มว่าจะเลิกจ้างพนักงานรวม 7 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท เซไดคาเซ ประเทศไทย จ.พระนครศรีอยุธยา จะถูกเลิกจ้าง 159 คน 2.บริษัท ชีดี คาร์ตอน พัลล์ ผลิตกล่องลูกฟูก จ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนจะถูกเลิกจ้าง 5 คน 3.บริษัท นิเด็ค อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาโรจนะ 2 จ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนจะถูกเลิกจ้าง 7 คน 4.บริษัท อิงเกรส ออโตเวนเจอร์ จำกัด ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ จ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนจะถูกเลิกจ้าง 76 คน

5.บริษัทเอวาพลาส (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตพลาสติก-แม่พิมพ์ชนิดฉีด จ.พระนครศรีอยุธยา จะถูกเลิกจ้าง 162 คน 6.บริษัท แซด คูโรดา (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตฉนวนป้องกันความร้อนและความเย็น จ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนจะถูกเลิกจ้าง 1 คน และ 7.บริษัท เอ็น แอนด์ อี (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตพลาสติก จ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนจะถูกเลิกจ้าง 80 คน ได้ทยอยเข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือต่อ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดี กสร.และผู้บริหารสำนักแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งได้เข้าหารือกับเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ของ กสร.

ต่อมาเวลา 12.00 น.พนักงานบริษัท อัลตัม พรีซิซั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 200 คน ได้มาชุมนุมที่ข้างกระทรวงแรงงาน เนื่องจากกระทรวงปิดรั้วไม่ให้เข้ามาภายในโดยมี รปภ.คอยดูแล

หลังจากนั้น ช่วงเที่ยงกว่าๆ ได้เกิดฝนตกหนักขึ้น ทำให้พนักงานบริษัทอัลตัมได้ปีนรั้วเข้ามาชุมนุมกันอยู่ใต้อาคาร กสร.และได้ส่งตัวแทนมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจาก กสร.ให้เจรจากับนายจ้างเพื่อให้บริษัทเลิกจ้างพนักงานที่เหลือ 200 คนทั้งหมด และจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานไป 2 รอบ รวมประมาณ 600 คน จากที่มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 800 คน ทำให้ขณะนี้มีพนักงานเหลืออยู่ 200 คน

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวภายหลังรับข้อเรียกร้องจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่อุกทกภัยว่า แรงงานส่วนใหญ่ที่มายื่นข้อเรียกร้องมีปัญหาเดียวกัน คือ นายจ้างปฏิบัติเข้าข่ายการเลิกจ้าง และไม่ชัดเจนว่าจะจ้างแรงงานต่อหรือไม่ จึงมายื่นข้อเรียกร้องให้ กสร. ช่วยเหลือ ทั้งนี้ วันนี้ได้รับแจ้งว่าจะมีแรงงานประมาณ 7 บริษัทมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือโดยคาดว่ามีแรงงานที่เข้าข่ายถูกเลิกจ้างกว่า 2,000 คน ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าจะมีแรงงานทยอยมาขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

“ในกรณีที่นายจ้างไม่มีความชัดเจนว่าจะจ้างต่อหรือไม่เกิน 7 วัน และไม่จ่ายค่าจ้างถือว่าเข่าข่ายการเลิกจ้าง ซึ่งพนักงานตรวจแรงงาน จะต้องเรียกนายจ้างมาสอบถามหากไม่ชัดเจนต้องออกหนังสือให้นายจ้างเลิกจ้างคนงานและจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยคนงานต้องยื่นคำร้อง คร.7 ในการขอให้ กสร.ดูแลเรื่องค่าชดเชย หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจในการสั่งนายจ้างให้จ่ายค่าชดเชย” อธิบดี กสร.กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายจ้างไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลิกจ้างหรือไม่ เนื่องจากบริษัทคาดว่าจะสามารถฟื้นฟูโรงงานได้ทัน 3 เดือน แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น อีกทั้งบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่ไม่รับประกันภัยให้บริษัทที่ถูกน้ำท่วม เพราะความเสียหายจากอุทกภัยมีมูลค่ามหาศาล จึงได้ทยอยปลดคนงานและย้ายบริษัทไปอยู่ในจังหวัดอื่นๆในช่วงนี้

นายจำลอง ชะบำรุง ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานใน จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวนมากประสบกับปัญหาสถานประกอบการไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง อีกทั้งไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเลิกจ้างและการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้าง เนื่องจากไม่มีการเรียกพนักงานกลับเข้าทำงานหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ซึ่งเชื่อว่าแรงงานที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงอยากให้กระทรวงแรงงานมีนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาแบบภาพรวม ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบเป็นรายตามที่แรงงานมายื่นคำร้องเพื่อให้แรงงานมีความมั่นใจว่าจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายและได้รับการช่วยเหลือในกรณีถูกเลิกจ้าง

น.ส.ดวงใจ ศรีชัยภูมิ วัย 35 ปี พนักงานฝ่ายผลิตและกรรมการลูกจ้าง บริษัท เอ็นอีซีโทคิน ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตนทำงานฝ่ายผลิตที่บริษัทแห่งนี้มา 12 ปี ได้ค่าจ้างเดือนละ 7,300 บาท หากรวมค่าสวัสดิการอื่นๆ จะมีรายได้เดือนละกว่า 10,000 บาท ทั้งนี้ ช่วงตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.2554 บริษัทถูกน้ำท่วมและจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงาน 75% ของเงินเดือน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย จึงได้มาขอให้ กสร.ช่วยเจรจากับบริษัทเพื่อให้จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายโดยเป็นไปตามอายุงานของพนักงานแต่ละคนและจ่ายเงินพิเศษ 6 เดือนด้วย

“ช่วงก่อนเหตุการณ์น้ำท่วมบริษัทขอให้ทำโอที พนักงานทุกคนก็ช่วยทำงานตามที่บริษัทขอร้อง แต่พอถึงตอนนี้จะเลิกจ้างกลับไม่บอกกล่าวกันให้ชัดเจนและไม่บอกเรื่องการจ่ายเงินชดเชย และการย้ายโรงงานไปที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกร บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะนำพนักงานไปด้วยประมาณ 200 คนจากที่มีอยู่ทั้งหมด 3,100 คน ก็ไม่ได้สอบถามความสมัครใจจากพนักงานทุกคนทั้งที่พนักงานบางคนทำงานมากว่า 10 ปีแล้ว มีอายุกว่า 40 ปีหางานใหม่ยาก ทั้งนี้ การย้ายโรงงานครั้งนี้ ทำให้พนักงานที่เหลือ 2,900 คน จะต้องถูกเลิกจ้าง” น.ส.ดวงใจ กล่าว

นายสมพล พวงจันทร์ วัย 33 ปี ประธานสหภาพแรงงานและกรรมการลูกจ้าง บริษัทเซได คาเซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวหลังยื่นหนังสือกับกสร.ว่า ได้มาขอความช่วยเหลือจากกสร.ขอให้ช่วยเจรจากับบริษัทฯเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องการเลิกจ้างและให้จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่เดือน ต.ค.2554 จนถึงเดือนม.ค.2554 ทางบริษัทไม่ได้เรียกพนักงานทั้งหมด 159 คนไม่ได้จ่ายค่าจ้าง และไม่ได้เรียกพนักงานกลับเข้าทำงานมีเพียงแต่การนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อฟื้นฟูโรงงานเท่านั้น

“บริษัทเปิดมาได้ 17 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เคยไปเปิดสาขาที่ระยอง แต่ก็ปิดตัวไป ตอนนี้บริษัทกำลังฟื้นฟูหลังน้ำท่วม แต่ก็ไม่ได้เรียกพนักงานกลับเข้าทำงาน พวกผมจึงมาขอให้กสร.ช่วยเหลือโดยได้ยื่นคำรอง คร.7 ไว้ เพื่อที่หากบริษัทเลิกจ้าง ก็ให้จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายโดยเป็นไปตามอายุงานของพนักงานแต่ละคนอย่างผมทำงานฝ่ายผลิตมากว่า 10 ปี เงินเดือนกว่า 7,000 บาท ถ้าบวกเงินสวัสดิการอื่นๆก็มีรายได้ทั้งหมดเดือนละประมาณ 14,000 บาท ระหว่างที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้ค่าจ้างก็ไปหางานอื่นทำชั่วคราว เช่น งานก่อสร้างเพื่อให้รายได้เลี้ยงครอบครัว ทั้งนี้ หากบริษัทมีความชัดเจนในเรื่องเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชย ผมกับเพื่อนๆพนักงานจะได้ไปหางานใหม่ทำ” นายสมพล กล่าว

น.ส.นิภาพร แก้วบริวงศ์ วัย 27 ปี พนักงานฝ่ายผลิต บริษัทอัลตัม พรีซิซั่น กล่าวว่า บริษัทถูกน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2554 และจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน 75% ของเงินเดือน ต่อมาเดือนธ.ค.2554 บริษัทได้เปิดกิจการและจ่ายเงินเดือนเต็ม 100% แต่บริษัทได้เปลี่ยนผู้บริหารใหม่โดยให้ผู้บริหารของบริษัท Eng-Tek ซึ่งเป็นบริษัทเครือข่ายเข้ามาบริหารงานแทน และนำพนักงานจากบริษัทเครือข่ายเข้ามาทำงานในแผนกต่างๆแทนพนักงานเดิม จึงได้มีการประกาศเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่เดิมไป 2 รอบรวมทั้งหมดประมาณ 600 คน จากที่มีอยู่ 800 คน ทำให้ขณะนี้มีพนักงานเดิมเหลืออยู่ 200 คน

“การเปลี่ยนผู้บริหารใหม่และนำพนักงานใหม่เข้ามาแทนพนักงานเดิมเหมือนกับเทกโอเวอร์บริษัท พวกดิฉันจึงมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากกสร.ให้เจรจากับนายจ้างเพื่อขอให้บริษัทเลิกจ้างพนักงานที่เหลือ 200 คนทั้งหมดและจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่าตอนนี้ไม่มีความมั่นคงในการทำงานแล้ว จึงไม่อยากทำงานที่บริษัทแห่งนี้อีกต่อไป และขอให้จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายโดยพนักงานมีอายุงานตั้งแต่ 1-10 ปีอย่างดิฉันทำงานที่บริษัทแห่งนี้มา 4 ปีได้เงินเดือน 7,800 บาท หากรวมค่าสวัสดิการอื่นๆ ก็มีรายได้เดือนละ 13,000 หมื่นบาท ทั้งนี้ หากบริษัทเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชย ก็จะได้มีเงินก้อนไว้ตั้งหลักและหางานใหม่ทำ” น.ส.นิภาพร กล่าว

ต่อมาเวลา 14.23 น.ประธานและกรรมการสหภาพแรงงาน บริษัทเอ็นอีซีโทคิน ประเทศไทย จำกัด ได้ลงมาประกาศผลการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์และผู้บริหารบริษัทโดยมีข้อสรุปว่า บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยและสวัสดิการต่างๆได้แก่ 1.เงินชดเชยตามอายุงาน 2.สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน 3.เงินเดือน ค่าครองชีพ ค่าตำแหน่งในเดือนก.พ.2555 เป็นเวลา 1 เดือน 4.เงินขอบคุณพิเศษ 1 เดือนบวกเงินเพิ่ม 5,000 บาท 5.เงินโบนัสประจำเดือน ธ.ค.2554 เป็นเวลา 1 เดือน 6.เงินคืนวันลาพักร้อนคงเหลือตามสิทธิและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามระเบียบกองทุน

ทั้งนี้ เงินในส่วนของข้อแรกจนถึงข้อที่หก ทางบริษัทจะนำเงินทั้งหมดนำเข้าบัญชีธนาคารของพนักงานในวันที่ 10 ก.พ.นี้ ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจะจ่ายล่าช้าออกไปเพราะต้องประสานงานกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งหลังจากรับฟังผลหารือพนักงานที่มาชุมนุมส่วนใหญ่แสดงสีหน้าดีใจและไม่ได้มีการคัดค้านใดๆ

นายเจริญ เศรษฐสุข ประธานสหภาพแรงงานบริษัท เอ็นอีซีโทคิน ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตนและกรรมสหภาพแรงงานต่างพอใจกับผลสรุปการหารือและเชื่อว่าเพื่อนพนักงานส่วนใหญ่ก็คงพอใจเช่นกันเพราะถือว่าบรรลุเป้าหมายตามที่เรียกร้อง หลังจากนี้เพื่อนๆพนักงานคงทยอยกันเดินทางกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตนและกรรมการสหภาพแรงงานรวม 11 คน ยังคงมีสถานภาพเป็นพนักงานของบริษัทและได้รับเงินเดือนเต็ม 100% จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเลิกจ้างตามที่บริษัทได้ฟ้องเลิกจ้างไว้ก่อนหน้านี้

น.ส.นิภาพร แก้วบริวงศ์ พนักงานฝ่ายผลิต บริษัทอัลตัม พรีซิซั่น กล่าวหลังร่วมกับเจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์และผู้บริหารบริษัทฯว่า การหารือวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะผู้บริหารบริษัทฯยังไม่ให้คำตอบว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ แต่จะให้คำตอบในวันที่ 3 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น.ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม พวกตนคงไม่เดินทางไปเพราะพนักงานที่มาชุมนุมมีจำนวนมากและเสียค่าเดินทางมาก ดังนั้น ตนกับเพื่อนๆพนักงานจะปักหลักชุมนุมที่กระทรวงแรงงานต่อไป และในวันที่ 4 ก.พ.นี้ จะขอให้ กสร.ช่วยประสานงานเจรจากับทางบริษัทเพื่อให้ได้รับคำตอบ

////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น