xs
xsm
sm
md
lg

CKP ลั่นปีหน้ารายได้โต 20% ทุ่ม 3 พันล. บุกโรงไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ซีเค พาวเวอร์” ตั้งเป้าปีหน้ารายได้โต 20% จากปีนี้ที่คาดว่ามีรายได้สูงกว่าเป้าหมายอยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท เผย 5 ปีข้างหน้าใช้เงินลงทุน 3 พันล้านบาท ลุยโรงไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศ

น.ส.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้นอีก 20% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท เกินเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้เพียง 5.4 พันล้านบาท เนื่องจากในปีนี้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 ที่ สปป.ลาว ได้รับคำสั่งเดินไฟฟ้าจาก กฟผ.เพิ่มมากขึ้นจากมีปริมาณน้ำฝนในเขื่อนเพิ่ม รวมทั้งรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางปะกง โคเจนเนอร์เรชั่น (BIC 1) มิ.ย.ที่ผ่านมา และการขายไอน้ำจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวในช่วง ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ปีหน้าบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า BIC 1 เต็มปี

บริษัทฯ ยังมีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่า หลังปี 2563 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,000 เมกะวัตต์ โดยระยะสั้น บริษัทฯ มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าบางปะกง โคเจนเนอร์เรชั่น เฟส 2 อีก 120 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 โดยปีหน้าจะได้ข้อสรุปด้านการเงิน และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลังน้ำ-น้ำบาก ที่ สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ จะจ่ายไฟให้ลาวทั้งหมดในปี 2561 โดยปีหน้าคาดว่าจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟ และเริ่มก่อสร้างได้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าฝายน้ำล้นไซยะบุรี ขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ใน สปป.ลาว ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างไปแล้ว 20% คาดว่าจะจ่ายไฟเข้าระบบได้ในปี 2562 โดยบริษัทฯ จะเข้าไปซื้อหุ้นในโครงการไซยะบุรี ที่ ช.การช่าง ถือหุ้นอยู่ 30% และบีอีซีแอล 7.5% ด้วย

นอกจากนี้ ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ บริษัทฯ เตรียมพื้นที่ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และโรงไฟฟ้าเอสพีพีเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ และได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นใน สปป.ลาว และพม่าอีก 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จากการเข้าไปศึกษาโอกาสการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในพม่า พบว่า ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมากต่อเนื่องหลายปี โดยสนใจลงทุนทั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโคเจนเนอร์เรชั่น จากปัจจุบันพม่ามีกำลังการผลิตไฟเพียง 2-3 พันเมกะวัตต์เท่านั้น ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความเสี่ยงทั้งกฎระเบียบ สัญญาการรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งการจ่ายเงิน เป็นต้น ทำให้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

“ใน 5ปีข้างหน้านี้ บริษัทฯ มีแผนลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นคิดเป็นเงิน 3 พันล้านบาท โดยไม่รวมเงินที่จะใช้ในการซื้อหุ้นจาก ช.การช่าง และบีอีซีแอล ในโครงการไซยะบุรีด้วย ซึ่งแหล่งเงินทุนนั้นจะมาจากกระแสเงินสดในมือ และการจัดหาเงินกู้ เนื่องจากอัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทฯยังต่ำอยู่”

ขณะนี้บริษัทฯ ได้มีการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายลงหลังพบว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอีกต่อไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น