จับชีพจร “ตลาดหุ้นไทย” สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงโดยมีแรงขายจากต่างชาติต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเมืองเป็นปัจจัยหลัก แนวโน้มสัปดาห์หน้า แนะติดตามประเด็นการเมืองในประเทศ และคำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร พร้อมคาดดัชนีจะมีแนวรับที่ระดับ 1,383 และ 1,365 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,434 และ 1,441 จุดตามลำดับ
รายงานข่าวบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์สัปดาห์ที่ผ่านมา (4-8 พ.ย.) ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงโดยมีแรงขายจากต่างชาติต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเมือง ดัชนีปิดที่ระดับ 1,405.03 จุด ลดลงร้อยละ 1.68 จากสัปดาห์ก่อน ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.11 จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 38,520.15 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ปิดที่ระดับ 372.90 จุด ลดลงร้อยละ 1.87 จากสัปดาห์ก่อน
การเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทย ได้ปรับร่วงลงตั้งแต่วันจันทร์ หลังมีการชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ เพราะมีแรงซื้อหุ้นคืน หลังราคาปรับลดลงมาก บวกกับท่าทีรัฐบาลส่งสัญญาณไม่เสอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกต่อไป หากวุฒิสภาลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ดัชนีหุ้นไทยกลับมาลดลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ เพื่อติดตามการตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร และการลงมติของวุฒิสภาต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นักลงทุนต่างชาติจึงปรับพอร์ตการลงทุน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟด
สำหรับแนวโน้มการลงทุนสัปดาห์หน้า (11-15 พ.ย.56) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนียังคงผันผวน และมีโอกาสปรับลดลง จึงต้องติดตามประเด็นการเมืองในประเทศ และคำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร สำหรับรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีจะมีแนวรับที่ระดับ 1,383 และ 1,365 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,434 และ 1,441 จุด ตามลำดับ
ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ได้อ่อนค่าลงมาใกล้ระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทถูกกดดันจากแรงขายสุทธิหุ้น และพันธบัตรไทยจากนักลงทุนต่างชาติ (6.54 พันล้านบาท และ 1.47 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่คาด เช่น ดัชนี ISM ภาคบริการเดือน ต.ค. ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.ย. และจีดีพีประจำไตรมาส 3/2556 จึงเป็นปัจจัยบวกต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่นกัน
การเคลื่อนไหวค่าเงินในวันศุกร์ (8 พ.ย.) ค่าเงินบาทปิด 31.38 เทียบกับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 พ.ย.) สำหรับแนวโน้มสัปดาห์หน้า (11-15 พ.ย.) คาดว่าค่าเงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต้องจับตาสถานการณ์การเมืองไทย การตอบรับของตลาดหลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ต.ค.ของสหรัฐฯ ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจจีนในเดือน ต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจจับตาดูผลการประชุมกำหนดนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (9-12 พ.ย.) ด้วยเช่นกัน