xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” สรุปคดีโกงแวตมูลค่า 4 พันล้านบาท โยงใย 65 บริษัท แฉหลักฐานมัดแน่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คลัง” สรุปคดีโกงแวตมูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านบาท เกี่ยวข้อง 65 บริษัท ข้าราชการมีเอี่ยว ตั้งแต่ระดับบนยันระดับล่าง เล็งตั้งกรรมการสอบหลังพบหลักฐานมัดแน่น แต่กลับมีการอนุมัติให้คืนแวตโดยไม่ได้มีการตรวจสอบ

นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโกงภาษีมูลค่า (แวต) จำนวน 4,000 ล้านบาท เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีโกงแวตดังกล่าว โดยกล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้รับข้อมูลจากกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 20 บริษัท จาก 45 บริษัทที่เหลือ ผลปรากฏว่า พบผู้กระทำความผิดเป็นเอกชนกลุ่มเดียวกันกับเอกชน จำนวน 20 บริษัท ที่คณะกรรมการฯ ได้พบการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน และมีข้าราชการสรรพากรเกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 2 คน เป็นระดับปฏิบัติ 1 คน และระดับผู้เชี่ยวชาญ 1 คน โดยเสนอให้ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไปว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยหรือไม่

“การทำงานของคณะกรรมการฯ มีความรวดเร็วมากขึ้น หลังจากที่กระทรวงการคลังได้เปลี่ยนตัวอธิบดีกรมสรรพากร จากนายสาธิต รังคสิริ มาเป็นนายสุทธิชัย สังขมณี ทำให้ได้รับเอกสารและหลักฐานต่างๆ ครบถ้วนทั้ง 65 บริษัท ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม”

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวมีบริษัทที่เกี่ยวข้องรวม 65 บริษัท ก่อนหน้านี้ หรือในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้สรุปผลตรวจสอบบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคดีโกงแวตไปแล้ว 20 บริษัท เสนอให้ปลัดกระทรวงการคลัง ในช่วงนั้น คือ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม พิจารณาสอบวินัยข้าราชการ 18 คน ในจำนวนนี้ 14 คน ซึ่งเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับ 8 หรือซี 8 ลงไปทางกรมสรรพากรจะเป็นผู้สอบวินัย ที่เหลืออีก 4 คน ที่เป็นข้าราชการระดับ 9 ของกรมสรรพากรนั้น ทางฝั่งกระทรวงการ คลังเป็นผู้สอบวินัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนทางวินัย

“จากการตรวจสอบพบว่า ผู้กระทำความผิดกลุ่มแรก และกลุ่มที่ 2 ที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกัน หรือเป็นกลุ่มเดียว ทำให้การตรวจสอบมีความง่ายมากขึ้น โดยผู้กระทำความผิดระบุว่า ได้ส่งเศษเหล็กไปต่างประเทศเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ข้อเท็จจริงแล้วได้ส่งเศษหินไปแทน โดยกรมศุลกากร ได้ตรวจพบ และแจ้งให้กรมสรรพากรรับทราบ แต่ต่อมา บริษัทเจ้าของสินค้าไปแจ้งความว่า สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ถูกขโมย และเปลี่ยนสินค้าจากเศษเหล็กเป็นก้อนหินเพื่อนำใบบันทึกประจำวันไปเป็นหลักฐาน แต่ในท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรก็อนุมัติคืนแวต เป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท โดยไม่ได้ตรวจสอบว่ามีสินค้าส่งออกไปจริงหรือไม่”

นอกจากนี้แล้ว ยังพบผู้กระทำความเป็นกลุ่มที่ 3 คือ 25 บริษัทสุดท้ายจากจำนวนทั้งหมด 65 บริษัท โดยระบุว่า ได้ส่งคอมพิวเตอร์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่สินค้าที่ส่งออกไปจริงเป็นพืชผักผลไม้เพื่อขอคืนภาษีแวต แต่เนื่องจากสินค้าเกษตรมีภาระภาษีแวต การอ้างว่า สินค้าที่ออกไปเป็นคอมพิวเตอร์ก็เท่ากับผู้ส่งออกได้ขอคืนภาษีแวตอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งบริษัทกลุ่มที่ 3 นี้ อยู่ระหว่างการสรุปสำนวน ซึ่งรวมถึงมูลค่าแวตที่ขอคืน เพื่อรายงานปลัดกระทรวงการคลังรับทราบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น