xs
xsm
sm
md
lg

“กอบศักดิ์” มองการเมืองฉุด ศก. โตต่ำ 2 อดีตขุนคลัง จี้นายกฯ แสดงความรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายแบงก์มองปัญหาการเมืองฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าเติบโตได้แค่ 3.5-4.0% ขณะที่ 2 อดีตขุนคลัง ยอมรับ พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย สามารถสร้างกระแสต่อต้านได้ถึงขั้นทำให้รัฐบาลซวนเซ และส่งผลกระทบในวงกว้าง “หม่อมอุ๋ย” แนะรัฐบาล “ปู” หยุดดื้อดึง และหาทางลง หันกลับมาฟังเสียงประชาชน “ทนง” เชื่อสถานการณ์ต่างจากปี 49 และปี 53 แต่นายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ แม้จะปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาฯ เพราะความขัดแย้งเกิดขึ้นจากรัฐบาล สวนทางกับการสร้างภาพความปรองดอง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2557 ในการเสวนา เรื่อง Economic Outlook : ตามติดเศรษฐกิจไทย ปี 2557 จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5 แต่จะเติบโตเหลือเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น ส่งผลให้ทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อย่างมากไม่เกินร้อยละ 3.5-4 และยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศจนทบทวนการลงทุนจากเดิมที่จะลงทุนในไทยไปประเทศอื่น เหมือนกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่นักลงทุนบางส่วนเลือกไปลงทุนที่ฟิลิปปินส์แทนไทย จากที่ไทยมีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้า หากปัจจัยการเมืองยังยืดเยื้อจะกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตร้อยละ 25-27 ต้องสูญเสียโอกาสจากการยกเลิกการเดินทางมาเที่ยวในไทยช่วงไฮซีซันจะไม่ได้กำไรในส่วนนี้ เพราะประเทศต่างๆ จะทยอยประกาศเตือนไม่ให้ประชาชนเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งน่ากังวลใจ ประกอบกับสหรัฐฯ จะประกาศชะลอการอัดฉีดสภาพคล่อง จะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเอเชีย รวมถึงประเทศไทย

ขณะที่รัฐบาลไม่อาจเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาการเมืองให้นิ่ง ตลาดหุ้นจะผันผวนตามกระแสข่าวต่างๆ ดังนั้น ขอให้นักลงทุนระมัดระวังจากปัจจัยที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยดังกล่าว จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 เศรษฐกิจไทยจากที่เคยคาดว่า จะเติบโตได้ในระดับร้อยละ 5 จะเติบโตลดลงประมาณร้อยละ 1-1.5 เหลือร้อยละ 3.5-4

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อนาคตประเทศไทย ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยระบุว่า การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยภาพรวม ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากระดับภาษีที่ลดลง ขณะที่สินค้าไทยที่ได้รับการยอมรับจากประเทศในอาเซียนอยู่แล้ว และประเทศไทยยังได้เปรียบจากการมีผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง และมีจำนวนมากที่สุดในอาเซียนที่ได้ขยายฐานการผลิตออกไปในอาเซียนแล้ว

ขณะที่สิงคโปร์ มีผู้ประกอบการรายใหม่น้อยกว่าไทยมาก และประเทศไทยยังได้เปรียบจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศที่อยู่ตรงกลางของภูมิภาคอาเซียน หากรัฐบาลเดินหน้านโยบายถูกต้อง ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียนได้ อย่างไรก็ตาม ไทยเสียเปรียบประเทศนอกอาเซียนโดยเฉพาะจากยุโรป และสหรัฐฯ แต่ที่สุดเชื่อว่าจะแข่งขันได้ เช่น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่ขณะนี้ธนาคารไทยมีสัดส่วนตลาดถึงร้อยละ 90 ธุรกิจโรงแรมไทยก็ออกไปรุกต่างประเทศมากกว่า

ส่วนการชุมนุมทางการเมืองคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวในวงกว้างพอสมควร รัฐบาลน่าจะรับฟัง โดยจะต้องติดตามต่อไปว่า ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นี้ วุฒิสภาจะผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ หากไม่ผ่านจะกลับไปสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซี่งรัฐบาลมีเวลา 180 วันในการแก้ไขมาตรา 3

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ถ้าหากวุฒิสภาไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย แต่ถ้าหากรัฐบาลยังคงปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อออกไป ต่างชาติก็จะเริ่มจับตามอง และอาจกระทบกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ซี่งหากอันดับความน่าเชื่อถือลดลงก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการระดมเงินทุน

ดังนั้น ความน่าเชื่อถือที่มีอยู่แล้วไม่ควรทำให้ลดลงเป็นดีที่สุด รัฐบาลต้องรับผิดชอบจะลอยตัวปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภาไม่ได้ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้าคาดว่า จะเติบโตได้กว่าร้อยละ 4 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวชัดเจน และเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น ที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงยุโรป ส่งผลให้การส่งออกทั้งทางตรง และการส่งออกทางอ้อมดีขึ้น

ด้านนายทนง พิทยะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลไทยรักไทย 2 กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ จะหมือนกับปี 2549 เเละปี 2553 หรือไม่นั้น ตนเองมองว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น ตอนนี้ฝ่ายค้านพยายามคัดค้าน รวมทั้งการชุมนุมที่อุรุพงษ์เเละสีลม อีกทั้งการคัดค้านของนักวิชการ นักธุรกิจ วิธีการคัดค้านไม่เหมือนกันเเต่มีเป้าหมายเดียวกัน

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีควรดูให้ถ่องเเท้ว่า การค้านเกิดขึ้นเกือบทุกกลุ่ม หน้าที่สร้างความปรองดองให้ประเทศตอนนี้สะดุด มันเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี หากประเทศเริ่มเกิดปัญหาความขัดเเย้ง

นอกจากนี้ วิธีเเก้ไขปัญหานั้่น นายกฯ ต้องรับผิดชอบ เเม้ว่านายกฯ จะปล่อยให้เป็นหน้าที่รัฐสภาในการออกกฎหมาย เเต่เมื่อรัฐสภาตัดสินใจเเล้วเกิดความขัดเเย้งกับความเห็นสังคมอย่างมาก นายกฯ ก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเเก้ปัญหาในหลายวิธี คือ รอให้ ส.ว.ดำเนินการ เเละวางเเผนเเก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน ส่วนผมขอเสนอนายกฯ คือ อดทน เตรียมตัวหาวิธีเเก้ปัญหาให้จบ และไม่เกิดความรุนเเรง
กำลังโหลดความคิดเห็น