เจ้าสัว “ธนินท์” ตั้งเป้า “ซีพี” ผงาดเป็นครัวของโลกตัวจริง เดินหน้าลงทุนนอก พร้อมลุยซื้อหุ้นกิจการท้องถิ่นทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ เตรียมควัก 3 พันล้าน ก่อสร้างโรงงานใน 3 ประเทศ พร้อมหนุนลงทุน 2 ล้านล้าน ต้องรีบทำก่อนหมดโอกาส
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ แสดงปาฐกถาพิเศษในโอกาสที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จัดฉลองครบรอบ 60 ปี ด้วยแนวคิด “เคียงข้างเกษตรกรไทย ก้าวไกลสู่ครัวโลก” โดยระบุว่า กลุ่มซีพีจะดำเนินทุกวิถีทางที่จะเป็นครัวของโลกด้วยการผลิตอาหารทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ และอาหารของมนุษย์ที่จะกระจายส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มซีพีถือเป็นผู้ผลิตอาหารป้อนชาวโลกปีละ 30 ล้านตัน และจากการประเมินจำนวนประชากรทั่วโลกที่มีปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 7,000 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 8,000 ล้านคนในอนาคต แน่นอนที่สุดจะเกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ แต่เชื่อว่าหากมีการพัฒนาระบบการผลิตโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ ตลอดจนการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่เหมาะสมก็จะแก้ไขได้
นายธนินท์ ยืนยันว่า กลุ่มซีพียึดมั่นการดำเนินธุรกิจต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบ เพราะเห็นว่าหากเกษตรกรอยู่บริษัทก็อยู่ได้ และนับจากนี้ไปซีพีมั่นใจว่าจะสามารถเป็นครัวของโลกได้ เพราะมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในองค์กร
ดังนั้น จะต้องไม่ปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการยอมรับนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการลดต้นทุนในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับกลุ่มซีพีได้จัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน
“หลังจากนี้ไปโลกจะเปลี่ยนแปลง จะมีการรุกคืบเพื่อมีการซื้อกิจการในโลก ซีพีก็เช่นกันที่ต้องเดินหน้าไปหากิจการในประเทศต่างๆ เพื่อประกอบธุรกิจอาหารให้คน และอาหารให้สัตว์ทั่วโลก ซึ่งคาดว่าภายใน 3-5 ปี ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนก็จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นประเทศนั้น”
นายธนินท์ มองว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเข้ามามีบทบาทต่อภาคครัวเรือน และมีความยิ่งใหญ่ในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าสินค้า จำนวน 70-80% จะมีการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต ถือเป็นโอกาสให้อาหาร และอาหารสำเร็จรูปที่จะส่งถึงบ้านรวดเร็ว และธุรกิจค้าปลีกจะช่วยกระจายสินค้า
ดังนั้น กลุ่มซีพียังคงต้องเดินหน้าซื้อหุ้นธุรกิจค้าปลีกทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ เพื่อขยายฐานการลงทุน ซึ่งหากไม่สามารถสู้ราคาได้ก็จะตัวสินใจสร้างโรงงานที่ดี และทันสมัย ทั้งในเบลเยียม อังกฤษ และสหรัฐฯ ซึ่งในเบลเยียมเราได้นักธุรกิจท้องถิ่นเพื่อช่วยผลิตอาหาร ซึ่งคาดว่าทั้ง 3 โรงงานดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนในกรอบ 3 พันล้านบาท
นายธนินท์ กล่าวว่า หากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม มูลค่า 2 ล้านล้านบาท ไม่เกิดในช่วงนี้ เมื่อระยะเวลาผ่านไปมูลค่าการลงทุนจะเพิ่มเป็น 6 ล้านล้านบาทในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ และโอกาสมหาศาล จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนให้เกิดขึ้นให้ได้