xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” แนะไทยต้องปรับตัวใน 3 ด้าน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง ศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าการ ธปท. แนะไทยปรับทัศนคติ 3 ด้าน เลิกพึ่งแรงงานราคาถูก แข่งขันด้านราคา อย่ายอมรับการคอร์รัปชัน เดินหน้าแก้ปัญหาโครงสร้าง และเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง ศก.โลก

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมวิชาการระดับชาติของเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 8 โดยงานสัมมนาหัวข้อ “การปรับเปลี่ยนประเทศไทยภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก” นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจะต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 16 ในปี 2573 จากประชากรทั้งหมด 8,000 ล้านคน และรับมือกับสังคมในยุคเทคโนโลยีอัตโนมัติ โดยมีการคาดการณ์อีก 12 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 70 ของการผลิตในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากไทยไม่ลดอุปสรรคด้านนี้ลงจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และหาแนวทางในการแก้ไขอย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมา ไทยไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อการแข่งขัน ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 9 ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ เหลือเพียงร้อยละ 4 ตั้งแต่ปี 2543-2555 ทำให้เฉลี่ยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโตได้เพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องปรับทัศนคติใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ทัศนคติการผลิตสินค้าที่ต้องเน้นการผลิตสินค้า และบริการที่มีคุณภาพมากกว่าเน้นด้านราคา เพราะแรงงานของไทยมีแนวโน้มลดลง ขณะที่การค้นคว้าด้านวิจัยและการพัฒนาน้อยเกินไป 2.ปรับทัศนคติด้านการยอมรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ที่สามารถทดแทนเทคโนโลยีเดิมได้ ซึ่งรัฐบาลควรสร้างบรรยากาศการแข่งขันเสรีทั้งภายใน และภายนอกประเทศมากขึ้น และ 3.ปรับทัศนคติที่ต้องไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นข้อจำกัดต่อการนำนโยบายไปใช้ในการแก้ไข ซึ่งจะเกิดการสูญเปล่าต่อการบริหารประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพื่อรองรับผลกระทบที่จะอาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเหมือนเช่นปัจจุบัน

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ฉะนั้น ไทยพิจารณาว่าจะอยู่ในโลกได้อย่างยั่งยืนอย่างไร ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งการจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ประเทศไทยไม่ควรลอกเลียนแบบการดำเนินชีวิตอย่างประเทศอื่นทั้งหมด และสิ่งสำคัญ คือ การที่คนไทยต้องมีความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ โดยจะต้องหลุดจากการยึดติดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูง เพราะในอดีตไทยเคยประสบปัญหามาแล้ว จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ในช่วงก่อนหน้านั้น มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 11 ประชาชนใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินไป จนเกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ ดังนั้น ประเทศควรรู้จักประมาณตน ใช้หลักเศรษฐกิจ และรู้จักการทำธุรกิจของตัวเองอย่างถ่องแท้ ทั้งธุรกิจหลัก และธุรกิจรอง
กำลังโหลดความคิดเห็น