“คลัง” ยอมรับ “รถคันแรก” เพิ่มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 พุ่งกระฉูด 79% ยันไม่ถึงขั้นน่าเป็นห่วง พร้อมระบุโครงการนี้ประชาชนให้ความสนใจมาก และส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะซื้อแบบเงินผ่อน
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงกรณีแนวโน้มการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 ที่สูงถึง 79% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 77.5% ว่า อัตราการเพิ่มขึ้นในระดับดังกล่าวยังไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากนัก โดยเป็นการวิเคราะห์ตามบทวิเคราะห์ขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ที่ระบุว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ระดับ 85% จะเริ่มส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
“ยอมรับว่าแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกไม่เกิน 1 แสนบาทเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นโครงการที่กระตุ้นการใช้จ่าย และการบริโภคภาคประชาชนได้ค่อนข้างสูง และจากข้อมูลพบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน 1.2 ล้านราย ใช้วิธีการซื้อรถยนต์แบบผ่อนสูงถึง 85% ส่วนอีก 15% เป็นการซื้อเงินสด”
ทั้งนี้ คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการรถคันแรกนี้ให้ความสนใจกับโครงการดังกล่าวมาก และส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะซื้อแบบเงินผ่อน ซึ่งนั่นเองที่กลายมาเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนในขณะนี้ ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนจากการใช้บัตรเครดิต และสินเชื่ออื่นๆ ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนตัวเลขหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ยังไม่มาก และมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับโครงการของรัฐ
นายพิสิทธิ์ ยังได้กล่าวเสริมว่า กระทรวงการคลัง ได้ประเมินแนวโน้มการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และช่วงที่เหลือของปีนี้จะเริ่มมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง