ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินสถานการณ์สินเชื่อ “ธนาคารพาณิชย์” ปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 10-12% พร้อมมองแนวดน้มสินเชื่อรายย่อยอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการบริโภค และความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือน อันอาจทำให้ผู้ประกอบการยังคงใช้นโยบายเครดิตที่ระมัดระวัง ส่งผลให้อุณหภูมิการแข่งขันบรรเทาลงจากช่วงต้นปี
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด วิเคราะห์สถานการณ์สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ว่า จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 เงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (หักรายได้รอตัดบัญชี) มีจำนวนทั้งสิ้น 9.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2555 ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดจากข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 2/2556 พบว่า การเติบโตของสินเชื่อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ได้รับแรงหนุนสำคัญจากความต้องการสินเชื่อของรายย่อยที่ยังคงเติบโตได้กว่าร้อยละ 18.5 นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เติบโตได้ราวร้อยละ 25.6 จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรก และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตร้อยละ 12.2 สอดคล้องกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจ เติบโตเร่งขึ้นเล็กน้อยจากระดับร้อยละ 10.8 ณ สิ้นปี 2555 มาที่ระดับร้อยละ 11.2 ในไตรมาส 2/2556 ตามแรงหนุนหลักจากสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่อของผู้ประกอบการรายใหญ่เติบโตชะลอลงตามผลของฐานที่สูงในปี 2555 และการหันไประดมเงินทุนผ่านช่องทางอื่นๆ ของผู้ประกอบการรายใหญ่บางส่วน
ส่วนสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย ณ สิ้นปี 2556 อาจเติบโตชะลอลงมาอยู่ในกรอบร้อยละ 10-12 ด้วยค่ากลางที่ร้อยละ 11 เทียบกับตัวเลข ณ สิ้นเดือน ส.ค.2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 ปัจจัยท้าทายที่อาจกระทบความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของการส่งออก อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ ตลอดจนแนวโน้มการระดมทุนผ่านตลาดทุนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ด้านสินเชื่อรายย่อย คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการบริโภค และความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือน อันอาจทำให้ผู้ประกอบการยังคงใช้นโยบายเครดิตที่ระมัดระวัง ส่งผลให้อุณหภูมิการแข่งขันบรรเทาลงจากช่วงต้นปี
ส่วนปัจจัยท้าทายการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในระยะกลางถึงระยะยาว ได้แก่ แนวโน้มการเปิดเสรีธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในระดับที่มากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มบทบาทของธนาคารต่างชาติในอุตสาหกรรมธนาคารไทย และการเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ในด้านต่างๆ เพื่อรองรับแนวโน้มการขยายธุรกิจธนาคารในตลาดต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ และเพื่อต่อยอดการสร้างรายได้ของธนาคารในอนาคต
แนวโน้มการปรับกลยุทธ์ของธนาคารพาณิชย์ไทยเพื่อขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดลูกค้าไทยที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ หลังจากก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากจะเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าไทยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นแล้ว ยังอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถต่อยอดการสร้างรายได้ทั้งรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยได้อีกด้วย โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งคงจะเริ่มเห็นช่องทางในเข้าไปให้บริการธุรกรรมทางการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการกับธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง