บิ๊กแบงก์ไทยพาณิชย์ ชี้เศรษฐกิจไทย-ค่าเงินยังผันผวน หลังเฟดคง QE เตือนผู้ประกอบซื้อความเสี่ยง พร้อมคุมเข้มปล่อยกู้ต่อเนื่อง แต่ยังมั่นใจปล่อยกู้ได้ตามเป้า
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)กล่าวว่า สภาวะเศรษฐกิจของไทยที่มีความผันผวนอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากเงินทุนจากต่างประเทศที่เคลื่อนย้ายออกจากประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ด้วย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศคงมาตรการ QE ไว้ก่อน และยังไม่มีข้อสรุปว่าจะลดวงเงิน QE ในช่วงไหน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่้งผลต่อค่าเงินบาทให้มีความผันผวนตามไปด้วย
ดังนั้น ผู้ที่ดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศก็จะต้องระมัดระวังในเรื่องดังกล่าว และควรป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจส่งออก หรือนำเข้า ซึ่งที่ผ่านมา มักจะมีแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่นิยมป้องกันความเสี่ยง แต่ปัจจุบัน ก็มีธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก เริ่มเห็นความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยสำคัญ
“เรื่องการซื้อประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก่อนนี้จะแต่บริษัทใหญ่ๆ ทำ แต่เดี๋ยวนี้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มมีความรู้ความเข้าใจ และเข้ามาทำมากขึ้น ซึ่งเรื่องเป็นที่ดี และธนาคารก็แนะนำมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินผันผวนมากๆ”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตช้าลงตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แต่ภาคการเงินยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยังการเติบโตของสินเชื่อถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะชะลอลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ดี ไม่น่าเป็นห่วง โดยสินเชื่อของธนาคารน่าจะมีการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
“สินเชื่อของธนาคารก็ยังขยายได้ดี เพราะยังมีการขยายธุรกิจในหลายด้าน แม้ว่าเศรษฐกิจช้าลงบ้าง ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวมากกว่า แต่หากลูกค้ามีปัญหา ธนาคารก็พร้อมช่วยเหลือ และติดตามดูอยู่ตลอด เพราะเรามีสาขามาก ดูแลได้ทั่วถึง ที่สำคัญคือ ต้องเข้าช่วยเหลือลูกค้าตั้งแต่ตอนต้น ไม่รอให้เกิดปัญหาจนแก้ไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธนาคารยังคงกังวลมากที่สุด คือ การใช้เงินผิดประเภทของลูกค้า เป็นปัจจัยที่เสี่ยงที่สุดในการทำให้เกิดหนี้เสียในระบบ ทางธนาคารมีการเข้มงวดมาโดยตลอดในเรื่องการคัดกรองคำขอสินเชื่อ และในปัจจุบัน ก็มีความเข้มงวดมากขึ้น และเริ่มทำมานานพอสมควรแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากมาทำในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในขณะนี้ถือว่าช้าเกินไป
ส่วนงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีในระยะยาว เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยสร้างรากฐานของเศรษฐกิจ ถึงแม้จะใช้ระยะเวลานาน แต่ผลตอบแทนที่จะได้รับคุ้มค่า และจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาของประเทศได้ในหลายๆ ทาง