ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกแข่งเดือด ผู้ประกอบการแห่เปิดคอมมูนิตี มอลล์ ส่งตรงถึงทำเลที่อยู่อาศัย ขณะที่ศูนย์การค้ายังครองตลาดส่วนแบ่งถึง 60% ด้านธุรกิจร้านสะดวกซื้อแข่งขันหนักสุดทั้งรายใหญ่ รายใหม่ ประกาศขยายสาขาทั่วประเทศ
นายสุรเชษฐ กองชีพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจพื้นที่ค้าปลีก พบว่า ศูนย์การค้ามีสัดส่วนประมาณ 60% ของทั้งตลาดด้วยพื้นที่มากกว่า 3.9 ล้านตารางเมตร รองลงมาเป็น ซูเปอร์สโตร์ 12%, คอมมูนิตี มอลล์ 11%, สเปเชียลตี สโตร์ 6%, พื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน 4% และคอมเพล็กซ์ 2%
ในจำนวนพื้นที่ศูนย์การค้า 3.9 ล้าน ตร.ม. มีมากกว่า 25% ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง และประมาณ 22% อยู่ในพื้นที่รอบใจกลางเมือง ณ ไตรมาส 2/56 ซูเปอร์สโตร์ มอลล์ มีสัดส่วนเป็นอันดับที่ 2 ในตลาด แต่ภายในปีนี้ คอมมูนิตี มอลล์ จะมีสัดส่วนมากเป็นลำดับที่ 2 เนื่องจากว่ามีคอมมูนิตี มอลล์ หลายโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีกำหนดแล้วเสร็จภายยในปีนี้ ในขณะที่ไม่มีซูเปอร์สโตร์ มอลล์ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเลย
ทั้งนี้ คอมมูนิตี มอลล์ ยังเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกรุงเทพ เพราะในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ พื้นที่ค้าปลีกส่วนใหญ่ที่สร้างเสร็จคือ คอมมูนิตี มอลล์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการใหม่หลายรายก็ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งต่างมีความต้องการที่จะพัฒนาโครงการคอมมูนิตี มอลล์ และเกือบทั้งหมดที่เปิดให้บริการในครึ่งปีแรกตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก ใกล้กับกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในโซนที่อยู่อาศัย
“อัตราการเช่า และค่าเช่าในโครงการพื้นที่ค้าปลีกมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตั้งแต่ช่วงต้นปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายสุรเชษฐ กล่าว
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า อุปทานที่มีกำหนดแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ได้แก่ ในช่วงครึ่งหลังปี 56 จำนวน 250,000 ตร.ม. ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่รอบใจกลางเมือง โดยที่จำนวน 131,750 ตร.ม. คือ ศูนย์การค้า และอีกประมาณ 117,000 ตร.ม. คือ คอมมูนิตี มอลล์ ในจำนวนดังกล่าวมีพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 105,000 ตร.ม. ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง คอมมูนิตี มอลล์ ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่อยู่อาศัย ดังนั้น โครงการส่วนใหญ่จึงตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก
ร้านสะดวกซื้อแข่งเดือด
สำหรับตลาดร้านสะดวกซื้อกลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันมากที่สุดในปีนี้ เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายรายในตลาดนี้ที่ประกาศแผนการขยายสาขา และแผนการลงทุนไปยังทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภายหลังจากที่ทางเซ็นทรัล รีเทล คอร์เปอเรชั่น (ซีอาร์ซี) ของกลุ่มเซ็นทรัล เข้าซื้อกิจการของบริษัท สยาม แฟมิลี่ จำกัด เพื่อเข้าบริหารร้านแฟมิลี่ มาร์ท ในประเทศไทย โดยซีอาร์ซี ประกาศขยายสาขาเพิ่มเป็น 800 สาขาในปี 56 นี้ และประมาณ 3,000 สาขา ในปี 60 นอกจากนี้ ซีอาร์ซี ยังเป็นเจ้าของท็อปส์ เดลี่ อีก 120 สาขาทั่วประเทศไทย ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นแฟมิลี่ มาร์ทในอนาคต
ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็ประกาศการขยายสาขา เช่นกัน ทั้ง บิ๊กซี อิออน (ประเทศไทย), เซเว่น อีเลฟเว่น และลอว์สัน 108 จากสหกรุ๊ป และลอว์สัน อินค์ จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรายใหม่ในตลาดประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังต้องการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้าไปในร้านค้าของตนเอง โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารพร้อมบริโภค (RTE) และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย
ส่วนซูเปอร์สโตร์ มอลล์ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่มีการแข่งขันสูง เพราะผู้ประกอบการในประเภทนี้มีเพียงแค่ 3 รายเท่านั้น โดยทุกรายมีแผนขยายสาขาไปทั่วประเทศ ซึ่งภายหลังจากที่บิ๊กซี เข้าซื้อกิจการของคาร์ฟูร์ ในประเทศไทยเมื่อปี 53 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทางซีพีออลล์ ก็กลายมาเป็นเจ้าของใหม่ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ในขณะที่เทสโก้ โลตัส ซึ่งเป็นผู้ประกอบรายใหญ่ที่สุดก็มีแผนในการขยายสาขาเช่นกัน
แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซูเปอร์สโตร์ มอลล์ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการขยายสาขาในประเทศไทย เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องผังเมือง กฎหมาย กฎระเบียบ เรื่องการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การประท้วงจากคนในท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงการที่มีขนาดเล็กลง เช่น ซูเปอร์มาร์เกต และร้านสะดวกซื้อในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ส่วนชอปปิ้ง ออนไลน์ ยังคงเป็นตลาดใหม่สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 54 ผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกก็ให้ความสำคัญกับผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ โดยการออกแคมเปญต่างๆ เพื่อโปรโมตการซื้อสินค้าออนไลน์