xs
xsm
sm
md
lg

ดึงเจ้าหนี้เถื่อนเข้าระบบ คลังแก้กฎหมายชง “โต้ง” เคาะกรอบวงเงินกู้นาโนไฟแนนซ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เล็งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ต้นเหตุ คลังเตรียมร่างกฎหมายดึงเจ้าหนี้นอกระบบตั้งเป็นนิติบุคคลให้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมชง “กิตติรัตน์” ตัดสินใจขอบเขตวงเงินกู้นาโนไฟแนนซ์ระหว่าง 2.5-5 หมื่นบาทต่อราย ดอกเบี้ย 30-35%

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า มาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนที่กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อกำหนดรายละเอียดในการดำเนินงานเบื้องต้นได้ข้อสรุปแนวทางต่างๆ แล้วรอเสนอให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พิจารณาตัดสินใจก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ปว.58 เพื่อให้การดำเนินการได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศของ ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยกระทรวงการคลัง จะร่วมกับ ธปท.ในการกำกับดูแลนิติบุคคลดังกล่าวเหมือนที่ดูแลนอนแบงก์แต่อาจจะเข้มงวดน้อยกว่า

สำหรับแนวคิดในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบดังกล่าว จะมีการจูงใจให้เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ โดยให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และสามารถปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสถาบันการเงิน และที่ไม่ใช่สถาบันการเงินปล่อยกู้อยู่ในปัจจุบัน โดยจะเสนอให้ รมว.คลัง เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องของการกำหนดวงเงินที่ชัดเจน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

นายลวรณ แสงสนิท รองผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า แนวทางการให้นิติบุคคลปล่อยกู้ให้รายย่อยหรือเรียกว่านาโนไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งเล็กกว่าไมโครไฟแนนซ์นั้น จะมีวงเงินประมาณ 2.5-5 หมื่นบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 30-35% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อรายย่อย หรือบัตรเครดิตที่อยู่ประมาณ 15-20% ต่อปี แม้อัตราดอกเบี้ยจะค่อนข้างสูงกว่าที่สถาบันการเงินปล่อย แต่ก็ยังต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบมากที่มีดอกเบี้ย 10-20% ต่อเดือน

อีกทั้งยังเป็นการจูงใจให้เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ หรือปล่อยกู้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีนายทุน หรือเจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยอยากเข้ามาอยู่ในระบบ เพราะจะทำให้การติดตามทวงถามหนี้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ต้องทำตามกรอบที่กำหนดไว้เช่นกัน และต้องยอมรับว่า การปล่อยกู้รายย่อยดังกล่าวค่อนข้างจะมีความเสี่ยงสูงเพราะไม่มีหลักประกันใดๆ และอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่มีรายได้ประจำ

“แนวคิดดังกล่าวถือว่าอยู่จุดตรงกลางระหว่างการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินกับการปล่อยเงินกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยจึงสูงกว่าเพื่อจูงใจให้เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบเข้ามาปล่อยกู้ในระบบอย่างถูกกฎหมาย เพียงแต่ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป็นนิติบุคคลจะได้มีการควบคุมได้ง่ายกว่าการให้บุคคลธรรมดาปล่อยกู้ โดยทำหน้าที่เพียงปล่อยกู้เท่านั้น ห้ามระดมเงินฝากจากประชาชนเหมือนกับสถาบันการเงินทั่วไป ส่วนเงินที่ใช้ดำเนินการอาจใช้เงินทุนตัวเอง หรือออกหุ้นกู้ก็ได้” นายลวรณ กล่าวและว่า แนวทางดังกล่าวน่าจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ และลดภาระของประชาชนลงได้ โดยหันมากู้จากนิติบุคคลไปจ่ายหนี้นอกระบบซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำกว่า และยังมีโอกาสหมดหนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น