xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ใช้ระบบหักชำระเงินบัตรเดบิตค่าสินค้าและบริการในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.เปิดให้บริการระบบหักชำระเงินในประเทศ สำหรับบัตรเดบิตที่ชำระค่าสินค้า และบริการในประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้ระบบหักชำระเงินภายในประเทศ (Local Switching หรือ LSW) จากเดิมที่การหักชำระเงินผ่านบัตรต่างๆ ต้องโอนออกไปหักชำระนอกประเทศตามระบบของวีซ่า และมาสเตอร์ แล้วค่อยโอนกลับมาให้ชำระในประเทศไทย ซึ่งมีต้นทุนค่าธรรมเนียมการบริการสูง

ระบบ LSW จะเริ่มเปิดให้บริการหักชำระเงินสำหรับบัตรเดบิตที่ออก และใช้จ่ายในประเทศได้ ซึ่งระบบ LSW มีข้อดีคือ หากมีกรณีที่เกิดภัยพิบัติ หรือปัญหาที่ทำให้การเชื่อมต่อกับระบบในต่างประเทศล้มเหลว ผู้ใช้บัตรในประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้า และบริการได้เป็นปกติ

ทั้งนี้ ได้เริ่มใช้ระบบ LSW ตั้งแต่ 1 ก.ย.2556 โดยการทำรายการชำระค่าสินค้า และบริการในประเทศด้วยบัตรเดบิตที่ออกในประเทศไทยทุกรายการ ต้องส่งรายการเข้าระบบ LSW เพื่อหักชำระเงินภายในประเทศ ซึ่งการบังคับให้ส่งข้อมูลหักชำระเงินโดยระบบ LSW นี้ ธปท.ใช้อำนาจตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบริการการชาระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 กำหนดให้ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบ LSW เพื่อช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงปลอดภัยของระบบการชำระเงินของประเทศ

สำหรับระบบ LSW เป็นระบบเครือข่ายในประเทศไทย ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการทำรายการใช้บัตรเดบิต ตั้งแต่การอนุมัติรายการใช้บัตรที่ร้านค้า (Authorization) การหักบัญชี (Clearing) และการชำระดุลระหว่างผู้ให้บริการ (Settlement) โดยผู้ให้บริการ LSW สำหรับบัตรเดบิตในประเทศไทย ปัจจุบัน คือ บริษัทเนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ ซึ่งในอนาคตอาจมีผู้ให้บริการรายอื่นได้อีก เนื่องจากทางการไม่มีนโยบายปิดกั้น และสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบ

จากข้อมูล ธปท. ณ มิ.ย. ปีนี้ พบว่า มีจำนวนบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ 74.005 ล้านใบ แบ่งเป็น บัตรเอทีเอ็ม 14.925 ล้านใบ บัตรเครดิต 17.473 ล้านใบ ด้วยมีปริมาณการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต 6.8 หมื่นล้านบาท ส่วนบัตรเดบิต มีมากถึง 41.607 ล้านใบ แต่มีการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตเพียง 8,000 ล้านบาท ส่งผลให้ ธปท.ต้องส่งเสริมการชำระด้วยบัตรเดบิตมากขึ้น ด้วยการอำนวยความสะดวก เพิ่มความปลอดภัย และลดต้นทุนค่าบริการการหักชำระเงิน อย่างไรก็ดี ค่าธรรมเนียมการบริการจะถูกลงกว่าปัจจุบันหรือไม่ อยู่ที่บริษัทเนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ พิจารณา เพราะ ธปท.ไม่มีอำนาจกำหนดราคา
กำลังโหลดความคิดเห็น